วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลักกฎหมาย-ขอเฉลี่ยทรัพย์

การขอเฉลี่ยทรัพย์ ม.290
การขอเฉลี่ยทรัพย์ ป.วิ.แพ่งมาตรา 290
การขอเฉลี่ยทรัพย์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 คือการที่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเรื่องอื่นของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือ เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งนำจบค.ยึด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา(ฎีกา 924/2503(ประชุมใหญ่))
มาตรา 290 นั้นเป็นเรื่องของการขอเฉลี่ยทรัพย์เนื่องจากมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคน หลายคดี เมื่อคดีใดคดีหนึ่งได้มีการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ แล้ว มาตรา 290 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นทำการยึดทรัพย์ซ้ำหรืออายัด ทรัพย์ซ้ำอีก แต่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์หรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนทำการยึดหรืออายัดซ้ำก็ไม่มีผลเป็นการยึด(ฎีกา 3339/2524)
หลักเกณฑ์ในการขอเฉลี่ยทรัพย์
1.ผู้มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
ก.เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
คือ ศาลได้มีคำพิพากษาว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว มิใช่เป็นแต่เพียงได้ฟ้องและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่จำเป็นว่าคดีต้องถึงที่สุดและไม่จำเป็นจะต้องมีการออกหมายบังคับคดี แล้ว(ฎีกา 516/2499 118/2501)
ฎีกา 118/2501 เจ้าหนี้ซึ่งได้เพียงแต่ฟ้องคดีไว้ ยังไม่ใช่เจ้าหน้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งจะขอเฉลี่ยหนี้ได้ และจะขอให้จ่ายเงินเพื่อรอคดีของเจ้าหนี้นั้นให้ถึงที่สุดก่อน ก็ไม่ได้
ฎีกา 2700/2520 ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ได้บัญญัติถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้เพียงแต่ว่า จะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สิน หาได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อคดีถึงที่สุดไม่ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็มรสิทธิเพื่อจะยังให้ได้รับรองคุ้มครองและบังคับคดีตามสิทธิของตน โดยบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวได้
ข.เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร
ตามมาตรา 290 วรรคสาม เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ให้มีอำนาจขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 กรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ได้ทำการยึดหรืออายัดทรัพยสินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าภาษีอากร ค้างไว้แล้ว ต่อมาจบค.ได้ทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอีก ดังนี้ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรมีสิทธิขอฉลี่ยในทรัพย์ดัง กล่าว โดยไม่คำนึงว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะมีทรัพย์สินอื่นๆอีกหรือไม่
กรณีที่ 2 เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้ทีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร มิได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้เพื่อชำระหนี้ภาษีอากร ค้าง ดังนี้ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรก็มีสิทธิขอเฉลี่ยโดยไม่ต้อง เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ขอเฉลี่ยได้ภายใต้มาตรา 290 วรรคสอง ซึ่งหมายความว่า ศาลจะอนุญาตให้เฉลี่ยได้ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ฎีกา 1879/2518 บทบัญญัติมาตรา 12 ป.รัษฎากร เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บค่าภาษีอากรค้างได้ โดยสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เอง โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นมาฟ้องร้องต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.แพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบ กระทั่งถึง ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 289 แห่ง ป.วิ.แพ่ง เมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้ถึงขนาดนี้ แล้ว แม้ผู้ร้อง(เจ้าพนักงานซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้าง) จะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีสิทธิขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ได้(ฎีกา 482/2519,1120/2526,85/2529 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
ฎีกา 803/2539 สิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาลก่อนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง ถือว่าเป็นสิทธิอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับคดีได้ตามกฎหมาย ซึ่ง ป.วิ.แพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่ง ถึง ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสาม ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้อำนาจนั้น และมิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดีซึ่งต้องฟ้องภายในอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม
ค.ผู้มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ตามกฎหมายพิเศษ
ฎีกา 3850/2531 ประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน โดยให้อำนาจอธิบดีกรมแรงงานอกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนและหรือเงิน เพิ่มได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล ถือไดว่าเป็นสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้น ได้ตามมาตรา 287 กรมแรงงานจึงมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยหนี้ได้ตามมาตรา 290 แม้จะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมิใช้หนี้ค่าภาษีอากรก็ตาม
2.ทรัพย์สินหรือเงินที่ขอเฉลี่ยได้
ทรัพย์สิน หรือเงินที่ขอเฉลี่ยได้คือ ทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยึดหรืออายัดมาชำระหนี้ และรวมตลอดถึงดอกผลของทรัพย์หรือเงินที่ถูกยึดหรือยายัด หากเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ไม่ได้มีการยึดหรืออายัดเช่น กรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาชำระหนี้ให้โจทก์เอง ก็ไม่อยู่ในความหมายของมาตรา 290 ดูฎีกา 1324/2503 (ประชุมใหญ่)
3.กำหนดเวลาการยื่นคำร้อง
การขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 ด้วย(ฎีกา 698/2518,3607/2539)
ฎีกา 3607/2539 การร้องของให้บังคับคดีตามา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆของการบังคับคดีให้ครบภายในกำหนด 10 ปี คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นต่อไปต้องให้จบค.ทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อจบค.ขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำแถลง การที่ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอย่างเดียวเท่านั้นโดยมิได้ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอีก จนพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ผู้ร้องหมดสิทธิที่จะบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลย เพราะขาดอายุการบังคับคดี และผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลย เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง
สำหรับระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้
ก.กรณียึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น
กฎหมายกำหนดให้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น
ข.กรณีอายัดทรัพย์สิน
กฎหมายกำหนดให้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์ตามที่อายัดไว้ ซึ่งหมายถึงการอายัดตามคำพิพากษา ไม่ใช่การอายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา(ฎีกา 2189/2534,1141-1144/2526)
ค.กรณียึดเงิน
ให้ยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันยึด
ระยะเวลาตามที่ระบุในมาตรา 290 นั้นเป็นระยะเวลาที่กำหนดให้ดำเนินการไม่ให้ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่กฎหมาย กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม การจะยื่นคำร้องขอก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวนั้นก็สามารถทำได้ กฎหมายไม่ห้ามเช่น มีการยึดทรัพย์ แต่ยังไม่มีการขายทอดตลาด ก็ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์เข้าไปก่อน(ฎีกา 1161/2515)
4.ศาลที่จะรับคำขอ
ให้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดี โดยทำเป็นคำร้อง ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
5.สิทธิของเฉลี่ยทรัพย์สิน กรณีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดีตาม 290 วรรคแปด (เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะเท่าที่เก็บสถิติมา ยังไม่เคยออกสอบมาก่อน)
มาตรา 290 วรรคแปด ได้บัญญัติเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้สละสิทธิในการบังคับคดี กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์หรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 ,289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ โดยไม่ต้องขอให้ศาลถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 ทวิ ทั้งนี้ แม้ผู้ขอเฉลี่ยจะยื่นคำร้องภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องก็เข้าสวมสิทธิบังคับคดีต่อไปได้ โดยไม่จำต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต
ฎีกา 4096/2539 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ถอนการบังคับคดี เพราะเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับ คดีภายในระยะเวลาที่จบค.กำหนด มีผลโดยตรงเฉพาะโจทก์เท่านั้น ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้ยื่น คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยชอบที่จะดำเนินการบังคับต่อไป เมื่อจบค.มีหมายนัดถึงผู้ร้องทั้งสองแจ้งว่าถ้าหากประสงค์จะสวมสิทธิบังคับ คดีแทนโจทก์ ให้แถลงต่อจบค.ภายใน 7 วัน ผู้ร้องทั้งสองได้แถลงแจ้งความประสงค์ในวันดังกล่าว แม้จะทำในเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดี ก็ย่อมมีผลให้ผู้ร้องทั้งสองสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไป ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 290 วรรคแปด โดยไม่จำต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต
การ ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีในเวลาที่จบค.กำหนด จบค.ขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นได้ ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 295 ทวิ ดังนั้น แม้จะถอนการบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ก็สามารถเข้าสวมสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ ตามมาตรา 290 วรรคแปด
แต่ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อจบค.เป็นจำนวนพอชำระหนี้ตาม คำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือหาหลักประกันให้จนเป็นที่พอใจของศาล ซึ่งจบค.ต้องถอนการยึดตามาตรา 295(1) นั้น ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์จะสวมสิทธิดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ ไม่เข้ามาตรา 290 วรรคแปด
ฎีกา 7648/2538 จำเลยที่ 1 นำเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาไปวางชำระต่อจบค.โดยได้ชำระค่า ธรรมเนียมถอนการยึดและค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยวิธีอื่นอีกต่อไป โจทก์ย่อมจะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไปไม่ได้ และไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการ บังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่จบค.กำหนด จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคท้าย(ปัจจุบันเป็นวรรคแปด) ที่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขอเฉลี่ยสวมสิทธิคำเนินการบังคับคดีแทน โจทก์ผู้ยึดต่อไปได้ และการที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ต่อจบค.ก็มิใช่เป็นเหตุที่จะไม่ถอนการบังคับคดีให้
ป.วิ.แพ่งมาตรา 291 .ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้
(1) จพค.ถอน การบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อจบค.เป็นจำนวนพอชระหนี้ตา คำพิพากษา พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมแห่งการบังคับคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาหลักประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้
(2) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ได้แจ้งไปยังจบค.เป็นหนังสือว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดีนั้น
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 295 ทวิ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่จบค.กำหนด ให้จบค.ขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสีย
ประเด็นสำคัญที่เคยออกสอบ
ประเด็นที่ 1.การ ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ได้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้มีการยึดหรือฮายัดทรัพย์ของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้เงินตามคำพิพากษาโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี เท่านั้น ถ้าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา(จำเลย)นำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาเอง โดยไม่มีการยึดหรืออายัดแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะมายื่นคำร้องในเงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้นำ มาวางให้แก่เจ้าตามคำพิพากษาไม่ได้(ดูข้อสอบข้อ 3,6,13,14,15,17)
ฎีกา 1324/2503 ศาลพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วน และให้จำเลยใช้เงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์ จำเลยได้นำเงินมาวางศาลแล้วตามคำบังคับเพื่อชำระให้โจทก์ ดังนี้ เจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีอื่นจะมาขอเฉลี่ยในเงินจำนวนนี้ไม่ได้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ตัดสินว่า บทบัญญัติใน ป.วิ.แพ่ง ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเข้ามาขอเฉลี่ยได้ตามมาตรา 290 นั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึอหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ แต่เงินรายนี้เป็นเงินที่จำเลยที่ 3 นำมาชำระเอง เพื่อชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาให้พ้นจากความรับผิดชอบในหนี้จำนวนนี้ ระงับสิ้นไป มิได้สงวนสิทธิหรือโต้แย้งการจ่ายไว้แต่ประการใดและโจทก์ก็ได้ถือสิทธิขอรับ เงินจำนวนนี้จากศาล ต้องถือว่าเป็นสิทธิแก่โจทก์แล้ว ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าผู้ร้องขอเฉลี่ยไม่ได้” (เป็นคำพิพากษาที่ถูกอ้างอิงบ่อยมากที่สุดสำหรับมาตรา 290 ในข้อสอบทุกระดับ)
สำหรับกรณีการอายัดต้องยื่นคำขอเฉลี่ยภายใน 14 วัน นับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัด คำว่า อายัด ตามมาตรา 290 หมายถึง การอายัดหลังคำพิพากษา ไม่รวมถึงการอายัดชั่วคราวก่อนคำพิพากษา(ดูข้อสอบข้อ 1 )
ฎีกา 5836/2531 กำหนดะยะเวลาต่างตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามคำพิพากษา ซึ่งได้ยึดหรืออายัดมานั้น หมายถึงเฉพาะการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเจ้าพนักงาน บังคับคดีและโดยร้องขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อการเคหะแห่งชาติได้ส่งเงินมาให้ศาลชั้นต้นตามหมายอายัดชั่วคราวก่อน พิพากษา กรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 290 ที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจะต้องยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว
ฎีกา 986/2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับจากบุคคลภายนอกเป็นการ ชั่วคราวก่อนคำพิพากษา และได้มีการส่งเงินมาให้ศาลตามหมายอมายัดแล้ว เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งศาลที่อายัดเงินชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษายังคงมีผลต่อไป ทั้งโจทก์ได้ขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องดำเนินการขออายัดเงินดังกล่าวในชั้นบังคับคดีซ้ำอีก มีผลเท่ากับจบค.ได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ แทนโจทก์ตามความหมายของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 แล้ว ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยคดีอื่นที่ไม่สามารถเอาชำระ หนี้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลยจึงมีสิทธิขอฉลี่ยได้

ประเด็นที่ 2.เรื่องระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ตามมาตรา 290 วรรคสี่
โดยเฉพาะในกรณีที่มีการยึดทรัพย์หลายอย่าง และขายทอดตลาดหลายคราว วันขายทอดตลาดทรัพย์สินตามาตรา 290 วรรคสี่ หมายถึงวันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมดฎีกา 464/2514 ประชุมใหญ่ และฎีกา 1591/2522 หมายถึงวันสิ้นสุดการขายทรัพย์ที่ยึดมาในคราวเดียวกันทั้งหมดและฎีกา 6085/2539
ฎีกา 464/2514(ป) วันขายทอดตลาดทรัพย์สินตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสาม หมายถึง วันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด(ปัจจุบันคือ มาตรา 290 วรรคสี่)
ฎีกา 6075/2539 ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด หมายความว่า ระยะเวลานั้นนับแต่วันิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวเดียวกันนั้น ทั้งหมด เมื่อจบค.ได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวเดียวกันเป็นสองครั้ง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกเข้ามาก่อนวันขายทอดตลาดใน ครั้งที่สอง จึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์อีก การยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งที่สอง แม้พ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดครั้งที่สอง หาทำให้สิทธิของผู้ร้องที่ขอเฉลี่ยทรัพย์หมดไปไม่
กรณี เรื่องระยะเวลามีประเด็นที่น่าสนใจเพราะยังไม่มีการออกสอบคือ ถ้ามีการขายทอดตลาดไปแล้วบางรายการ ต่อมาโจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์ในส่วนที่เหลือตามมาตรา 295(2) ดังนี้ ถือว่าการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นลงในวันที่ขอถอนการยึดนั้น ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในกำหนด 14 วันนับแต่วันดังกล่าว(ฎีกา 2189/2534)( ออกสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา)
ฎีกา 2189/2534 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ประสงค์จะบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์ย่อมขอถอนการบังคับคดีได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังจบค.ว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดีนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 295(2) เมื่อจบค.ได้รับหนังสือนั้นแล้ว การถอนการยึดทรัพย์ของโจทก์ย่อมมีผลทันที และถือว่าการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่จบค.ยึดมาได้เสร็จสิ้นลงตั้งแต่ วันดังกล่าว ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องและขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาภายหลังจากสิ้นระยะเวลา 14 วันนับจากวันดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วย ป.วิงแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ แม้จบค.จะยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำถอนการยึดของโจทก์ก็ตาม
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 295 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้
(2) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นหนังสือว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดีนั้น

ประเด็นที่ 3.ข้อคัดค้านที่ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นนั้นสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์อื่นตามคำพิพากษาได้หรือไม่ ตามมาตรา 290 วรรคสอง นั้น เป็นข้อต่อสู้ระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยกขึ้นอ้างไม่ได้(ฎีกา 2639/2525)
ฎีกา 2629/2525 การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยในคดีที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองยึดไว้ เพื่อขายทอดตลาดนั้น มิใช่เป็นกรณีเฉลี่ยทรัพย์โดยตรงกับโจทก์ เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนอง แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระเงินที่เหลือภายหลังที่ได้รับชำระ ให้แก่โจทก์แล้ว ต้องนำ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อผู้ร้องได้ยื่นร้องเข้ามาก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด ศาลจึงอนุญาตให้ผู้ร้องรับเงินตามสิทธิได้
มาตรา 290 แห่ง ป.วิ.แพ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ ดังนั้น ข้ออ้างที่จำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ จำเลยผู้เป็นลูกหนี้จะยกขึ้นโต้แย้งหาได้ไม่
ประเด็นที่ 4. ใน การพิจารณาคำขอเฉลี่ยทรัพย์ ฝ่ายผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องนำสืบให้ได้ว่า ตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นผู้มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในกรณีอื่นๆตามที่กฎหมายให้อานาจ และต้องสืบให้ได้ความชัดเจนว่า ตนเองไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หากสืบไม่ได้ ศาลก็ต้องยกคำร้อง และคำว่า ทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ในมาตรา 290 วรรคสอง คืออะไร ก็มีการนำมาอออกสอบซึ่งจะรวมไปถึงว่าคดีที่ผู้ขอเฉลี่ยมีลูกหนี้ตามคำ พิพากษาหลายคน การจะดูว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษายังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ขอสามารถเอาชำระหนี้ ได้หรือไม่นั้น
จะดูเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์อยู่ตามคำพิพากษาเท่านั้น(ฎีกา 176/2494 ,2252/2536)
นอกจากนี้ เจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยต้องไม่สามารถเอาชำระจากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิง(ฎีกา 1648/2498 ,1161/2511)
ฎีกา 176/2494 คำว่า ทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในมาตรา 290 วรรคสอง นั้น หมายความว่าทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ผู้ถูกยึดทรัพย์อยู่ตามคำพิพากษานั้น ไม่หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพพิพากษาคนอื่นๆ เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์รายนี้คือจำเลย ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะยึดหรืออายัดได้อีก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ร้องขอเฉลี่ยได้
ฎีกา 2252/2536 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์สิน ซึ่งถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นก็ขอเฉลี่ยเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นได้ หาได้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาอื่นในคดีที่ผู้ขอเฉลี่ยชนะคดีหรือ บุคคลอื่นไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่ถูกโจทก์นำยึดไว้ ผู้ร้องสามารถเอาชำระจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มาจำนองประกันหนี้จำเลยได้ ก็ตาม
ฎีกา 1161/2511 การขอเฉลี่ยทรัพย์ตามาตรา 290 นั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินไม่ได้ ก็แต่ในกรณีที่ยังมีทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยังสมารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆนั้น คำว่า สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ได้นั้นหมายความว่า สามารถเอาชำระได้โดยสิ้นเชิง การได้รับชำระหนี้บางส่วน หาเป็นการสามารถเอาชำระหนี้ตามความหมายของมาตรา 290 วรรคสองไม่
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้เป็นเงิน 109,881.82 บาท นอกจากทรัพย์ที่โจทก์นำยึดแล้ว ลูกหนี้มีที่ดินอีกแปลงหนึ่งราคา 114,000 บาท แต่ที่ดินแปลงนี้ติดจำนองเงิน 85,000 บาท เมื่อหักหนี้จำนองออกจากราคาที่ขายคงเหลือเงินเพียง 29,000 บาท เห็นได้ว่า ผู้ร้องคงได้รับชำระหนี้ยางส่วนเท่านั้น ผู้ร้องจึงขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดได้
ฎีกา 1648/2498 ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ที่ว่า ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำ พิพากษานั้น หมายความว่า ไม่สามารถเอาชำระหนี้โดยสิ้นเชิง เพียงแต่ชำระหนี้บางส่วนได้ ยังขอเฉลี่ยได้

ประเด็นที่ 5.เจ้าหนี้ ที่ขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แม้จะยังไม่ได้ออกหมายบังคับคดีหรือยังไม่ครบกำหนดเวลาในคำบังคับก็ขอเฉลี่ย ได้
ฎีกา 516/2499 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินที่เจ้าหนี้อื่นนำยึดไว้ได้ แม้ศาลจะยังมิได้ออกหมายบังคับคดีแก่ลูกหนี้
ฎีกา 1562/2499 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้อื่นนำ ยึดได้ แม้ในขณะนั้นระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามคำบังคับจะยังไม่ครบกำหนด ไม่จำต้องรอให้ครบกำหนดตามคำบังคับ แต่จะต้องได้ความว่าไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้

ประเด็นที่ 6. ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกันในคดีอาญา ถือว่าแผ่นดินเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นขอเฉลี่ยได้(ดูข้อสอบข้อ 8,9 )
ฎีกา 553/2510 ไม่มีบทกฎหมายใดตัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการยึดทรัพย์ของบุคคลที่ ประกันจำเลยในคดีอาญา และหากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์สินของบุคคลที่ประกันจำเลยในคดีอาญาและ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลหรือพนักงานอัยการขอให้ถอนการยึดหรือแย่งยึด ทรัพย์นั้น การดำเนินการยึดทรัพย์ของทั้งสองฝ่ายตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ซึ่งห้ามมิให้ยึดซ้ำอีก โดยให้อำนาจในทางร้องขอเฉลี่ย ฉะนั้น ในกรณีศาลสั่งปรับประกัน นายประกันก็ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แผ่นดินย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น ย่อมมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดได้
ประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจ
1.ในกรณีที่มีการมอบหมายให้ศาลอื่นดำเนินคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดี การนับระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้รับเงินจากศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทน
ฎีกา 1157/2544 ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 .ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นมีอำนาจยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ ซึ่งตามมาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เมื่อมาตรา 290 วรรคหนึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ และวรรคห้าเป็นบทบัญญัติเชื่อมโยงมาจากวรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องระบุศาลที่จะรับคำร้องไว้ในวรรคห้าซ้ำอีกเพราะเป็นที่เข้าใจได้ ว่าหมายถึงศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง เมื่อจบค.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงซึ่งบังคับแทนศาลจังหวัด นครศรีธรรมราชได้รับเงินที่อายัดจากลูกหนี้ของจำเลยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 แล้วส่งเงินดังกล่าวให้แก่จบค.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 18 มกราคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา 14 วันตามกฎหมาย
2.เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาอาจร้องคัดค้านว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น นำมาขอเฉลี่ยนั้น เป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมกันระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาอื่นนั้น
ฎีกา 1227/2503 .ใน กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่น ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนั้นนำยึดมาจากจำเลย โจทก์ในคดีนี้ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่ผู้ ร้องขอเฉลี่ยนั้นเป็นหนี้ที่ไม่ชอบไม่ควรอย่างไรเช่น เกิดจากการสมยอม เพื่อศาลจะได้ไม่ยอมให้เฉลี่ย ศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องกับคำคัดค้านของโจทก์ แล้ววินิจฉัยสั่งไปตามประเด็น
เปรียบเทียบกับการร้องขัดทรัพย์
ผู้ ร้องขัดทรัพย์จะอ้างหรือต่อสู้ว่าหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดจาการสมยอมไม่ได้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยเฉพาะ จะสมยอมหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นในคดีร้องขัดทรัพย์เพราะคดีร้องขัดทรัพย์มีประเด็นเพียงว่า ทรัยพ์ที่ยึดนั้นเป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่เท่านั้น
ฎีกา 546/2501 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทผู้ร้องและจำเลยและนายยะ ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน โจทก์นำยึดส่วนของจำเลยได้ ที่ผู้ร้องอ้างว่าโจทก์กับจำเลยเป็นหนี้สมยอมกันนั้นจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียด้วย จึงไม่มีสิทธิจะยกหรือคัดค้านได้
ใน ทางตรงกันข้ามโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้การต่อสู้ว่า ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ทรัพย์จากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยการสมยอมได้ เพราะว่าข้อต่อสู้ดังกล่าวนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดยังเป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นประเด็นสำคัญในคดีร้องขัดทรัพย์
ฎีกา 673/2498 ลูกหนี้โอนที่ดินโดยสมยอมทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงยึดที่ดินได้ ไม่จำต้องร้องขอทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อน
****************************
ข้อสอบเนติบัณฑิต มาตรา 290
ข้อ 1 คำถาม ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลส่งอายัดเงิน 1,000,000 บาท ในบัญชีเงินฝากของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์ ธนาคารส่งเงินที่ถูกอายัดให้ศาลก่อนมีคำพิพากษาหนึ่งวัน ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท และได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน พ้นกำหนดตามคำบังคับแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ต่อมาอีก 7 วัน ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเรื่องอื่นยื่นคำร้องเพื่อให้ศาล มีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในเงินที่ถูกอายัดดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่สามารถบังคับชำระเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลรับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่
ธงคำตอบ กรณีที่ธนาคารส่งเงินที่ถูกอายัดให้ศาลตามหมายอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้นไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า ที่ผู้ร้องขอคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินที่อายัด เพราะมาตรา 290 ที่บัญญัติว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วหมาย ถึง การยึดหรืออายัดในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น และตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเฉลี่ยทรัพย์ระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่อาจนับเวลาตามมาตรา 290 วรรคห้า ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ผลของคำพิพากษาดังกล่าวก็เพียงทำให้คำสั่งของศาลที่อายัดชั่วคราวก่อนคำ พิพากษายังมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น โจทก์ต้องขอให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นอีก การที่ศาลได้ออกคำบังคับ และโจทก์ได้ขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลย จึงถือว่าจบค.ได้อายัดเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตามความหมายของ มาตรา 290 นับแต่นี้เป็นต้นไป ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยอีกคดีหนึ่ง และไม่สามารถชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลย จึงมีสิทธิขอเฉลี่ยในคดีนี้ได้ ศาลจึงรับคำขอเฉลี่ยของผู้ร้องไว้พิจารณาได้(ฎีกา 986/2531,5832/2531)(เนติ สมัย 54 2543)

ข้อ 2 คำถาม โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาได้นำพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยเป็นที่ดินมีโฉนด 1 แปลงและที่ดิน น.ส. 3 อีก 1 แปลง ในคราวเดียวกันเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ในวันขายทอดตลาดวันที่ 3 มีนาคม 2541 จบค.ขายได้เพียง 1 แปลงคือแปลงมีโฉนด ส่วนแปลง น.ส.3 ได้ประกาศใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องในวันที่ 9 กรกฎคม 2541 ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่ง และไม่สามารถชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ ของจำเลย ศาลนัดไต่สวนคำร้อง ต่อมาระหว่างไต่สวน จบค.ขายทอดตลาดที่ดินแปลง น.ส. 3 ได้ในวันที่ 24 กันยายน 2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาอีกในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ศาลสั่งไต่สวนเช่นกัน เมื่อไต่สวนคำร้องทั้ง 2 ฉบับแล้ว เห็นว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาและไม่สามารถเอาชำระหนี้จาก ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งหลังเข้ามาอีก ทำให้สิทธิตามคำร้องที่ยื่นในครั้งแรกหมดไปให้ยกคำร้อง ดังนี้ ให้วินิจฉัยคำสั่งของศาลชอบหรือไม่
ธงคำตอบ ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 290 วรรคสี่ ที่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดมาในคราวเดียวกันนั้นทั้งหมด คดีนี้ทรัพย์ที่ยึดมาในคราวเดียวกันทั้งหมดมีที่ดิน 2 แปลง ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งแรกขายที่ดินมีโฉนดไป 1 แปลง ในวันที่ 3 มีนาคม 2541 และการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 ขายที่ดิน น.ส. 3 แปลงที่เหลือไปในวันที่ 24 กันยายน 2541 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2541 ย่อมเป็นการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดมาในคราวเดียวกันในการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 จึงเป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดมาในคราว นั้นทั้งหมด ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งหลังเข้ามาอีก การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาอีกในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 แม้จะพ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่ 2 ก็ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องในการขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่มีอยู่แล้วตามคำ ร้องที่ยื่นเข้ามาครั้งแรกนั้นหมดไป คำสั่งของศาลที่ยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ(ฎีกา 1591/2522, 6075/2539)(เนติ สมัย 51 2541)

ข้อ 3 คำถาม ในคดีเรื่องหนึ่ง ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายเดชชำระหนี้แก่นายณรงค์ นายเดชได้นำเงินมาวางศาลตามคำบังคับเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายณรงค์ โดยมิได้สงวนสิทธิหรือโต้แย้งการจ่ายไว้ หากปรากฎว่านอกจากเงินที่นายเดชนำมาวางศาลแล้วนายเดชไม่มีทรัพย์สินอื่นใด อีก และในคดีอีกเรื่องหนึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นายเดชชำระหนี้แก่นายสมควร นายเดชอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ให้วินิจฉัยว่านายสมควรจะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในเงินที่นายเดชนำมาวาง ศาลได้หรือไม่
ธงคำตอบ แม้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่งจะมิได้บัญญัติบังคับว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้จะต้องเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดก็ตาม (ฎีกา 7576/2538) แต่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นจะมาร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อจบค.ได้ยีด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเอง โดยมิได้สงวนสิทธิหรือโต้แย้งการจ่ายเงินไว้ จึงมิใช่เป็นทรัพย์สินของนายเดชที่จบค.ได้ยึดหรืออายัดไว้ และต้องถือว่าเงินดังกล่าวตกได้แก่นายณรงค์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว นายสมควรจึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่นายเดชนำมาวางศาลไม่ได้(ฎีกา 1324/2503(ป))(เนติ สมัย 50 2540)

ข้อ 4 คำถาม ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำจบค.ยึดที่ดินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยใน ทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยตามส่วน โดยอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้ร้องจะสามารถยึดมาชำระหนี้ได้อีก ศาลไต่สวนแล้ว ได้ความว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจริง แต่ในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นนายพัฒน์ได้จำนองที่ดินเป็น ประกันหนี้ไว้แก่ผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินจำนองนั้นได้ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของผู้ร้องอย่างไร
ธงคำตอบ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเฉลี่ยทรัพย์ เว้นแต่ ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำ พิพากษานั้น คำว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หมายถึง ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์สินในคดีขอเฉลี่ยทรัพย์ ซึ่งถ้าไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ขอเฉลี่ยจะสามารถเอาชำระหนี้ได้แล้ว หาได้หมายถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนอื่นอีกไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์สิน ผู้ร้องจึงไม่สามารถเอาชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลยได้ ย่อมมีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ โจทก์ยึดได้ แม้ผู้ร้องจะสามารถบังคับเอาชำระหนี้จากที่ดินของนายพัฒน์ที่จำนองเป็นปะกัน หนี้ไว้แก่ผู้ร้องได้ก็ตาม ก็หาทำให้ผู้ร้องจะสามารถบังคับเอาชำระหนี้จากที่ดินของนายพัฒน์ที่จำนอง เป็นประกันหนี้ไว้แก่ผู้ร้องได้ก็ตาม ก็หาทำให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินของจำเลยดังกล่าวไม่ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ถูกยึดได้ตามส่วน(ฎีกา 2252/2536)(เนติ สมัย 47 2537)

ข้อ 5 คำถาม นายดำยื่นฟ้องนายแดงพร้อมกับยื่นคำขอให้ยึดที่ดินของนายแดงไว้ก่อนพิพากษา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยึดที่ดินตามคำขอ ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวนายเหลืองยื่นฟ้องนายแดงเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลพิพากษาให้นายแดงชำระหนี้แก่นายเหลือง นายแดงไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกนอกจากที่ดินที่นายดำขอให้ยึดไว้ก่อนพิพากษา นาเหลืองจึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่นายดำยื่นฟ้องนายแดง ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเหลืองจะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้หรือไม่
ธงคำตอบ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่นคำขอ โดยทำเป็นคำร้องต่อษศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่าย ทรัพย์สินนั้นได้ หมายความถึงการที่จบค.ได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ตามคำพิพากษา แต่กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยึดที่ดินของนายแดงไว้ ก่อนพิพากษาตามคำขอของนายดำ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 มิใช่การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้หลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว นายเหลืองจึงร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีของนายดำไม่ได้(เนติ สมัย 43 2533)

ข้อ 6 คำถาม ศาลพิพากษาให้นายอาทิตย์จำเลยใช้เงินแก่นายจันทร์โจทก์คดีแรก เป็นเงิน 50,000 บาท และพิพากษาให้นายอาทิตย์จำเลยใช้เงินแก่นายอังคารโจทก์ในคดีหลังจำนวนเท่ากัน นายอาทิตย์มีทรัพย์สินคือที่ดิน 1 แปลง ราคา 20,000 บาท เท่านั้น นายจันทร์ได้นำส่งคำบังคับไปยังนายอาทิตย์ และพ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ปฏิบัติตามคำบังคับแล้ว แต่นายอาทิตย์ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ นายจันทร์จึงขอหมายบังคับคดียึดที่ดินของนายอาทิตย์ นายอาทิตย์กู้เงินมาได้ จึงนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้นายจันทร์ 10,000 บาท และขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนโดยจะนำเงินอีก 40,000 บาท มาวางศาลภายใน 2 เดือน นายจันทร์ไม่ยอม จบค.ประกาศขายทอดตลาดที่ดินของนายอาทิตย์นำมาวางไปจากศาล นายอังคารทราบเรื่องจึงยื่นคำร้องขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่นายอาทิตย์นำมาวาง ศาล และในเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของนายอาทิตย์ นายจันทร์คัดค้านว่านายอังคารเพิ่งนำส่งบังคับในคดีหลังที่นายอังคารเป็น โจทก์ และยังไม่พ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ปฏิบัติตามคำบังคับ นายอังคารจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ ในวันนัดพร้อม นายอังคารแถลงรับว่าขณะที่ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นยังไม่พ้นระยะเวลา ที่กำหนดให้นายอาทิตย์ปฏิบัติตามคำบังคับจริง
หาก ท่านเป็นศาล จะอนุญาตให้นายอังคารเข้าเฉลี่ยในเงินที่นายอาทิตย์นำมาวางศาลและในเงินที่ จะได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของนายอาทิตย์หรือไม่
ธงคำตอบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้เฉพาะจากทรัพย์สินที่จบ ค.ได้ยึดหรืออายัดไว้ หรือจากเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่จบค.ยึดหรืออายัด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 เท่านั้น การที่นายอาทิตย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงิน 10,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายจันทร์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแรก เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายจันทร์โดยตรง ไม่ใช่เงินที่จบค.ยึดหรืออายัดไว้ นายอังคารเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหลัง จึงร้องขอเฉลี่ยในเงินจำนวนนี้ไม่ได้ ศาลต้องยกคำร้องของนายอังคารในส่วนที่ขอเข้าเฉลี่ยในเงิน 10,000 บาท(ฎีกา 1324/2503)
ส่วนที่นายอังคารร้องขอเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของนายอาทิตย์นั้น ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าผู้ขอเฉลี่ยต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ ตามคำพิพากษาเท่านั้นก็มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยได้ ดังนั้น แม้ในขณะที่นายอังคารเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหลังยื่นคำร้องขอเข้าเฉลี่ย ทรัพย์จะยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาที่ให้นายอาทิตย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติ ตามคำบังคับก็ตาม นายอังคารก็มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้โดยไม่จำต้องรอให้ครบกำหนดตามคำ บังคับเสียก่อนเพราะไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ ศาลต้องสั่งอนุญาตให้นายอังคารเข้าเฉลี่ยในเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาด ที่ดินของนายทิตย์(ฎีกา 1562/2499)(เนติ สมัย 41 2531)

ข้อ 7 คำถาม โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้นำจบค.ยึดที่ดินมีโฉนด 2 แปลงของจำเลยในคราวเดียวกันเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ จบค.ได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2521 ได้เงิน 1,000 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2521 ว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยคดีนี้ในอีกคดีหนึ่งเป็นเงิน 60,000 บาท ไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ที่ดินแปลงแรกของจำเลย ศาลไต่สวนแล้วได้ความจริงตามคำร้อง จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน แปลงแรกจำเลยได้ ท่านเห็นว่าคำสั่งของศาลชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ แม้การขอเฉลี่ยทรัพย์สินรายนี้ผู้ร้องจะได้ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะ 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดที่ดินแปลงแรก แต่ก็ยังยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดที่ดินแปลงหลัง ซึ่งถือเป็นสิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวเดียวกัน(ฎีกา 464/2514) ถือได้ว่าผู้ร้องรายนี้ได้ยื่นขอเฉลี่ยภายในกำหนดเวลาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรค 3 คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยได้ จึงเป็นการชอบแล้ว(เนติ สมัยที่ 30 2520)

ข้อ 8 คำถาม นายเอกขอประกันตัวนายโทจำเลยในคดีอาญาของศาลจังหวัดราชบุรี โดยทำสัญญาว่า ถ้าผู้ขอประกันผิดสัญญาให้ศาลมีอำนาจบังคับให้ผู้ขอประกันใช้เงินจำนวน 30,000 บาท ต่อมานายโทหลบหนี ศาลจังหวัดราชบุรีสั่งปรับนายเอกตามสัญญาและดำเนินการบังคับคดี จบค.ยึดทรัพย์ของนายเอก และได้ขายทอตลาดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2520 ได้เงิน 20,000 บาท ปรากฏว่านายเอกไม่มีทรัพย์สินอื่นๆที่จะบังคับเอาชำระได้อีก ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2520 นายตรีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายเอกในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งของศาลจังหวัด เพชรบุรี ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายเอกในคดี นั้นเป็นเงิน 30,000 บาท นายเอกไม่มีทรัพย์สินอื่นๆที่จะบังคับเอาชำระได้ ดังนี้ นายตรีมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ การดำเนินการบังคับตามคำสั่งศาลที่สั่งปรับนายประกันนั้น ป.วิ.อาญา มิได้บัญญัติไว้จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาใช้บังคับดั่งที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 15
กรณี ที่ศาลสั่งปรับนายประกันในคดีอาญา นายประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แผ่นดินมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นไม่ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลใดย่อมมีสิทธิ ร้องขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 290 ดังนั้น เมื่อนายตรี เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายเอกในคดีอื่น และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยภายใน 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด จึงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอตลาดได้(ฎีกา 553/2510)(เนติ สมัย 29 2519)
ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษามาตรา 290
ข้อ 9 คำถาม นายมีซึ่งเป็นผู้ประกันถูกศาลสั่งปรับฐานผิดสัญญาประกัน เมื่อศาลออกคำบังคับแล้ว นายมีไม่ชำระค่าปรับ ศาลจึงแจ้งพนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้นายมีไม่ยอมเสียภาษีเงินได้และยังผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้ แก่เจ้าหนี้อีกรายหนึ่ง อธิบดีกรมสรรพากรได้สั่งยึดที่ดินของนายมีไว้ก่อนตามประมวลรัษฎากรเพื่อ บังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง และนายมีถูกเจ้าหนี้เงินกู้ฟ้อง ศาลบังคับให้ชำระหนี้พร้อมกับขอให้ศาลสั่งยึดบ้านของนายมีไว้ชั่วคราวก่อนมี คำพิพากษาซึ่งศาลอนุญาตตามที่เจ้าหนี้ร้องขอ ต่อมาพนักงานอัยการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและจบค.ได้ยึดที่ดินและบ้านนาย มีที่ถูกยึดไว้แล้ว ให้วินิจฉัยว่าการยึดที่ดินและบ้านของนายมีตามที่พนักงานอัยการนำยึดนั้นชอบ หรือไม่
ธงคำตอบ กรณีที่ศาลสั่งปรับผู้ประกัน แผ่นดินมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(ฎีกา 553/2510) พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการตามพ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ แทนแผ่นดินในการบังคับชำระค่าปรับตามคำสั่งศาล
การ ที่อธิบดีกรมสรรพากรสั่งยึดที่ดินของนายมีไว้ก่อนตาม ป.รัษฎากรเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างก็ดี การที่ศาลมีคำสั่งยึดบ้านของนายมีไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254(1) ก็ดี ทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการยึดทรัพย์สินไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง (ฎีกา 1118/2511, 672/2515) ที่ จบค.ยึดที่ดินและบ้านของนายมี จึงไม่เป็นการยึดซ้ำ ดังนั้น การยึดที่ดินและบ้านของนายมีตามที่พนักงานอัยการยึด จึงชอบแล้ว(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2541)

ข้อ 10 คำถาม ศาลฎีกาพิพากษาให้นายทดชำระหนี้เงินกู้จำนวน 300,000 บาท แก่นายเทพในชั้นบังคับ นายทดทำบันทึกข้อตกลงกับนายเทพต่อหน้าทนายความทั้งสองฝ่ายให้นายทดมอบ เรือยนต์ลำหนึ่งให้นายเทพ และนายเทพไม่ติดใจบังคับคดีให้นายทดชำระหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อ ไป ต่อมานายทิดเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นของนายทดนำจบค.ยึดรถยนต์ของนายทด 2 คันในคราวเดียวกันเพื่อขายทอดตลาด นายเทพจึงขอเฉลี่ยหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวน 300,000 บาท จากรถยนต์นายทดที่ถูกยึด โดยยื่นหลังจากจบค.ขายทอดตลาดรถยนต์คันแรก 15 วัน แต่ก่อนวันนัดขายทอดตลาดรถยนต์คันที่สองโดยปฏิเสธว่าไม่เคยทำบันทึกข้อตกลง กับนายทดดังกล่าว ครั้นถึงวันนัดขายทอดตลาดรถยนต์คันที่สอง นายทิดยื่นคำแถลงขอถอนการยึดรถยนต์คันที่สองต่อจบค. และได้รับอนุญาตให้ถอนการยึดได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายเทพมีสิทธิเข้าเฉลี่ยหนี้ดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ การที่นายทดทำบันทึกข้อตกลงกับนายเทพเป็นการตกลงชำระหนี้กันนอกศาลโดยศาลมิ ได้รับรู้ ทั้งนายเทพก็ไม่ยอมรับว่ามีข้อตกลง หรือได้รับชำระหนี้ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว นายทดไม่อาจยกมาเป็นเหตุให้งดการบังคับคดีได้(ฎีกา 293/2513,310/2533) นาย เทพจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในเงินที่ได้จากการขาย ทอดตลาดรถยนต์ที่นายทิดเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นของนายทดยึดไว้ได้ และเมื่อการยึดรถยนต์ของนายทดทั้งสองคันเป็นการยึดในคราวเดียวกัน แม้นายเทพจะยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้หลังจากการขายทอดตลาดรถยนต์คันแรก 15 วัน แต่ก็ได้ยื่นก่อนการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่สอง จึงเป็นการยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ขายทอดตลาดรถยนต์ที่ยึดมาได้เสร็จสิ้นลง ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 290 วรรคสี่ แม้ต่อมาจบค.จะอนุญาตให้นายทิดถอนการยึดรถยนต์คันที่สอง ก็ถือว่าการขายทอดตลาดรถยนต์ของนายทดที่จบค.ยึดมาได้เสร็จสิ้นลงตั้งแต่วัน ดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่นายเทพได้ขอเฉลี่ยหนี้แล้ว คำร้องของนายเทพชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ นายเทพจึงมีสิทธิเข้าเฉลี่ยหนี้ได้(ฎีกา 2189/2534)(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2537)

ข้อ 11 คำถาม ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่นายแดงโจทก์ 50,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยคนเดียวกันนี้ชำระหนี้แก่นายดำโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง 10,000 บาท นายแดงยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 50,000 บาท ของจำเลยไว้ ส่วนนายดำยึดรถจักรยานของจำเลยได้ 1 คันราคา 1,000 บาท นอกจากนี้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก นายดำยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีของนายแดงโดยอ้างว่าทรัพย์
ของ จำเลยที่ยึดไว้ หากขายทอดตลาดก็ไม่พอชำระหนี้ได้จนครบ นายแดงคัดค้านว่าการขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้ยึดหรืออายัดอีก แต่นายดำได้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้แล้วแม้จะมีราคาเพียง 1,000 บาท ก็แสดงว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินที่นายดำสามารถเอาชำระหนี้ได้ นอกจากนี้จำเลยยังมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งราคา 80,000 บาท ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนโอนยกให้แก่บุตรไปโดยเสน่หาภายหลังที่ศาลพิพากษาคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ นายดำชอบที่จะไปดำเนินคดีฟ้องเพิกถอนการโอนเอากลับคืนมาเป็นของจำเลยเพื่อ ประโยชน์ของตนต่อไป นายดำจึงไม่มีสิทธิมาขอเฉลี่ยทรัพย์ ในชั้นนัดพร้อมนายดำรับว่าจำเลยจดทะเบียนโดยยกที่ดินให้แก่บุตรไปโดยเสน่หา ภายหลังที่ศาลพิพากษาคดีทั้ง 2 สำนวนนี้จริง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายดำอย่างไร
ธงคำตอบ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง บัญญัติว่า ไม่ ว่าในกรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า แม้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้แล้ว แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงได้ว่าทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ สิ้นเชิง และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นพอชำระหนี้เจ้าหนี้ก็ย่อมร้องขอเฉลี่ย ทรัพย์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามปัญหาปรากฏว่าทรัพย์ของจำเลยที่นายดำยึดไว้มีราคาเพียง 1,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาของนายดำไม่ไพชำระหนี้ให้นายดำโดยสิ้นเชิง นายดำจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้(ฎีกา 1166/2515)
ส่วนข้อที่ว่าจำเลยยังมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งราคา 80,000 บาท นั้น ก็เป็นที่รับกันระหว่างคู่กรณีแล้วว่า จำเลยได้โอนให้แก่บุตรไปแล้ว ย่อมถือได้ว่าในขณะที่ขอเฉลี่ยทรัพย์นี้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นที่นายดำจะ สามารถนำยึดเอามาชำระหนี้ของตนได้ ที่นายแดงอ้างว่าจำเลยโอนให้แก่บุตรเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นก็ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งชอบที่จะไปว่ากล่าวฟ้องร้องกันต่างหาก ยังไม่ชอบที่จะให้ตกเป็นหน้าที่ของนายดำต้องเป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องร้อง เพิกถอนการโอนนั้น เพราะในชั้นนี้มีปัญหาเพียงว่านายดำสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นๆของ จำเลยได้หรือไม่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะนี้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นใดให้นายดำยึดได้อีกแล้ว สิทธิของนายดำที่จะขอรับส่วนเฉลี่ยในทรัพย์ที่นายแดงยึดไว้ก็ย่อมเกิดมี ขึ้น(ฎีกา 875/2503) ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้นายดำเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2532)

ข้อ 12 คำถาม ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ ศาลออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 แปลง ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2528 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2528 นายสมชายและกรมสรรพากรร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลยทั้งสอง โจทก์คัดค้าน ทางไต่สวนได้ความว่านายสมชายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองอีกคดี หนึ่งซึ่งยังไม่ได้ขอให้ศาลออกคำบังคับและจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้ตามคำสั่งแจ้งการประเมินซึ่งถึงที่สุดแล้วอยู่ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่จำเลยที่ 2 มีที่ดินอยู่อีก 1 แปลงมีราคาเกินกว่าหนี้ตามคำพิพากษาของนายสมชาย ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งอนุญาตให้นายสมชายและกรมสรรพากรเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม คำขอหรือไม่
ธงคำตอบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นและเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าภาษีอากรที่ค้างและมิได้ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ก่อน มีสิทธิยื่นคำขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่จะต้องยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์ ทั้งนี้ ศาลจะอนุญาตตามคำขอก็ต่อเมื่อเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระจาก ทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่งมาตรา 290
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นแม้จะยังมิได้ขอให้ศาลออกคำบังคับก็มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้(ฎีกา 698/2518)ส่วน ข้อที่ว่า ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา นั้น หมายถึงเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินซึ่งในคดีนี้ คือจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่รวมถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนที่ยังไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอันได้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย(ฎีกา 176/2494)
ถ้า ข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งอนุญาตให้นายสมชายและกรมสรรพากรเข้าเฉลี่ยทรัพย์ใน เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ได้

ข้อ 13 คำถาม ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้บริษัทจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และออกคำบังคับให้บริษัทจำเลยทราบแล้ว บริษัทจำเลยนำเงินจำนวน 100,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำบังคับดังกล่าว โจทก์จึงขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของบริษัทจำเลย จบค.ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2527 ได้เงินสุทธิจำนวน 100,000 บาท โจทก์แถลงขอรับเงินทั้งสองจำนวนจากศาลและจบค.ในวันเดียวกันนั้น ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2527 บริษัทอิทธิพล จำกัด ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเพื่อขอรับส่วนแบ่งจากเงินทั้ง 2 จำนวน อ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของบริษัทจำเลยเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์และบริษัทจำเลยต่างแย่งกันยื่นคำร้องคัดค้านมีใจความทำนองเดียวกันว่า บริษัทจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่สามารถเอาชำระหนี้ได้อีก หากปรากฏว่าบริษัทจำเลยมีทรัพย์สินอื่นอีกประมาณ 50,000 บาท ท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของบริษัทอิทธิพล จำกัด และคำร้องของโจทก์กับบริษัทจำเลยอย่างไร
ธงคำตอบ สั่งยกคำร้องของบริษัทจำเลยเพราะบทบัญญัติเรื่องการร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ข้ออ้างที่ว่าบริษัทจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่สามารถเอาชำระหนี้ได้นั้น เป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกัน บริษัทจำเลยจะยกขึ้นโต้แย้งหาได้ไม่(ฎีกา 2629/2525) สำหรับคำร้องของบริษัทอิทธิพล จำกัด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในเงินจำนวน 100,000 บาทแรก ที่บริษัทจำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ มิใช่เกิดจากกรณีที่จบค.ได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 และโจทก์ได้ถือสิทธิขอรับเงินจำนวนนี้จากศาลแล้วต้องถือว่าเป็นสิทธิแก่โจทก์ บริษัทอิทธิพล จำกัด จะขอเฉลี่ยไม่ได้(ฎีกา 1324/2503(ป)) ส่วนเงินจำนวน 100,00 บาทที่ จบค.ขายทอดตลาดทรัพย์สินอื่นที่ยึดได้จากบริษัทจำเลยตามหมายบังคับคดีนั้น แม้บริษัทจำเลยจะมีทรัพย์สินอื่นก็เพียงประมาณ 50,000 บาท ไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทอิทธิพล จำกัด ศาลอนุญาตให้บริษัทอิทธิพล จำกัด เฉลี่ยจากเงินจำนวนนี้ได้(ฎีกา677/2503, 1221/2510)(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2527)

ข้อ 14 คำถาม ศาลพิพากษาให้นายสมจำเลยใช้เงินแก่นายสีโจทก์ในคดีหนึ่ง 50,000 บาท และพิพากษาให้นายสมจำเลยใช้เงินแก่นายสาโจทก์ในคดีอีกคดีหนึ่ง 30,000 บาท ศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วทั้งสองคดี แต่นายสมจำเลยไม่มีทรัพย์สินให้ยึดหรืออายัด ต่อมานายสมจำเลยเอาเงินเดือนที่สะสมได้ 8,000 บาท มาวางต่อจบค.เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่นายสีโจทก์ในคดีแรก ในวันเดียวนั้นเองนายสาโจทก์ในคดีหลังยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่ง ยอมให้นายสาโจทก์ได้เข้าเฉลี่ยเงินจำนวนนั้น เพราะไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นของนายสมจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขอให้จบค.ยึดหรืออายัดเงินจำนวนนั้น เพื่อนำมาเฉลี่ยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายสาโจทก์กับนายสีโจทก์ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยสั่งคำร้องของนายสาโจทก์อย่างไร
ธงคำตอบ จบค.มีฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 278 ดังนั้น การที่นายสมลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางต่อจบค.เพื่อชำระหนี้ตามคำ พิพากษาแก่นายสีโจทก์ในคดีแรกและจบค.รับไว้ จึงมีผลเท่ากับนายสีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้โดยตรง เงินที่นายสมลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาวางต่อจบค.จึงเป็นการชำระหนี้สมบูรณ์ ตกเป็นของนายสีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรกไปแล้ว กรณีไม่ใช่เป็นการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ของนายสมลูกหนี้ตามคำพิพากษา นายสาโจทก์จึงขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ไม่ได้ และจะขอให้ยึดหรืออายัดเงินจำนวนนั้นก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ของนายสมลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียแล้ว ศาลจะต้องสั่งยกคำร้องของนายสาโจทก์(ฎีกา 1324/2503)(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2523)

ข้อ 15 คำถาม เมื่อได้รับคำบังคับและพ้นกำหนดตามคำบังคับของศาลแล้ว จำเลยทั้งสองไม่นำเงิน 50,000 บาท มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดียึดที่ดิน 1 แปลงพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และจบค.ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 10 สิงหาคม 2515 ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 นำเงินมาวางศาล 20,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ และขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน โดยอ้างว่าจะนำเงินที่เหลืออีก 30,000 บาท มาวางศาลภายใน 1 เดือน โจทก์ไม่ยอมจบค.จึงขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2515 นายประสิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองในคดีอีกคดีหนึ่ง ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำเลยที่ 1 นำมาวางศาลและจากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าไม่สามารถจะเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลยทั้งสอง โจทก์คัดค้าน ทางไต่สวนได้ความว่า นายประสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองในอีกคดีหนึ่งจริง แต่คดีนั้นจำเลยทั้งสองไม่ไปฟังคำพิพากษา และนายประสิทธิ์ยังไม่ได้ขอให้ศาลออกคำบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่นายประสิทธิ์จะเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่จำเลยที่ 2 มีที่ดินอยู่ 1 แปลง อันมีราคาเกินกว่าหนี้ตามคำพิพากษาของนายประสิทธิ์ หากท่านเป็นศาล จะอนุญาตให้นายประสิทธ์เข้าเฉลี่ยทรัพย์ตามคำขอของนายประสิทธิ์หรือไม่
ธงคำตอบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 นั้น เพียงแต่ศาลพิพากษาให้ตนได้รับชำระหนี้แล้วก็ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาแล้ว ก็มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ ไม่จำต้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก่อน(ฎีกา 516/2499)
มาตรา 290 ที่ว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำ พิพากษานั้น คำว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาในที่นี้ หมายถึงเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนที่ยังไม่ถูกยึดหรืออายัด ทรัพย์สินด้วย(ฎีกา 176/2494)
เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาอื่นจะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้เฉพาะจากทรัพย์สินที่จบค.ได้ยึด หรืออายัดไว้ หรือจากเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่จบค.ยึดหรืออายัดเท่านั้น จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นเงินที่จบค.ยึดหรืออายัดไว้(ฎีกา 1324/2503)ตาม อุทาหรณ์ดังกล่าว หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้นายประสิทธิ์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา อื่นเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้เฉพาะจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่จำเลยที่ 1 มาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์นั้น ให้ยกเสีย(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2515)

ข้อ 16 คำถาม ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่นายแดงโจทก์ในคดีหนึ่ง 10,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยคนเดียวกันนั้นใช้เงินแก่นายดำโจทก์ในคดีหนึ่ง 20,000 บาท ศาลได้อกหมายบังคับคดีแล้วทั้งสองสำนวน จำเลยนำเงิน 9,000 บาท มาวางแก่จบค.เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่นายแดงโจทก์ ในวันเดียวกันนั้นเองก่อนที่จะได้รับเฉลี่ยเงินที่จำเลยนำมาวางนั้นให้นาย แดงไป นายดำยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้นายดำได้รับเฉลี่ยเงินจำนวนนั้นเพราะไม่ สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ประการหนึ่ง หรือนายดำขอให้จบค.ยึดหรืออายัดเงินจำนวนนั้น เพื่อชำระหนี้ที่นายดำชนะคดีตามคำพิพากษาอีกประการหนึ่ง ทั้งสองประการ ท่านเห็นว่านายดำมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินจำนวนนั้นทั้งหมดหรือเพียงบาง ส่วนโดยวิธีการที่นายดำร้องขอต่อศาลดังกล่าวนั้นหรือไม่
ธงคำตอบ พนักงานบังคับคดีมีฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 278 เงินที่จำเลยนำมาวางแก่ จบค. จึงเป็นการชำระหนี้สมบูรณ์ตกเป็นของนายแดงไปแล้ว ไม่ใช่การยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลย นายดำโจทก์จึงขอเฉลี่ยนั้นตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 290 ไม่ได้และจะยึดหรืออายัดก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียแล้ว(ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2504)

ข้อสอบอัยการผู้ช่วย
ข้อ 17 คำถาม พนักงานอัยการกองคดีแพ่งรับเป็นทนายว่าต่างให้แก่องค์การผลิตนมซึ่งเป็น รัฐวิสาหกิจโดยฟ้องหจก.นมไทย เป็นจำเลยฐานซื้อสินค้านมเชื่อไปแล้ว ไม่ชำระราคารวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,200,000 บาท จำเลยไม่ต่อสู้คดีโดยยื่นคำให้การว่าจำเลยหมุนเงินไม่ทันเพราะมีเจ้าหนี้ หลายราย ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมทั้งออกคำบังคับให้ จำเลยปฎิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะถูกยึดทรัพย์หรือจำขังแล้วแต่กรณี จำเลยทราบคำบังคับโดยชอบแล้ว จึงนำเงินมาวางศาล 1,200,000 บาท ตามคำบังคับ ศาลสั่งรับไว้แล้วออกหมายนัดพนักงานอัยการกองคดีแพ่ง ทนายโจทก์มารับเงินดังกล่าวไป ในวันนัดนั้นเองพนักงานอัยการกองคดีแพ่งได้ยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนดัง กล่าว พร้อมกันนั้นได้มีบริษัท นมอินเดีย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในมูลหนี้ 500,000 บาท ตามคำพิพากษาในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งถึงที่สุดแล้ว ได้มายื่นคำร้องต่อศาลขอเฉลี่ยเงินที่จำเลยเป็นผู้นำมาวางศาลด้วย ดังนี้ ท่านเห็นว่า บริษัท นมอินเดีย จำกัด มีสิทธิได้รับการเฉลี่ยเงินรายนี้ได้หรือไม่ ตลอดทั้งศาลจะอนุญาตตามคำร้องของบริษัทดังกล่าวนี้หรือไม่
ธงคำตอบ บริษัท นมอินเดีย จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการเฉลี่ยเงินรายนี้ และศาลจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับการเฉลี่ยเงินตามคำร้อง เพราะกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ย ทรัพย์สินหรือเงินนั้น ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 ได้บัญญัติสรุปใจความว่าจะขอเฉลี่ยได้ในกรณีที่จบค.ได้เป็นผู้กระการยึดหรือ อายัดทรัพย์สินหรือเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าจบค.มิได้เป็นผู้ทำการยึดหรืออายัด หากแต่จำเลยได้เป็นผู้นำเงินมาชำระต่อศาลเองเพื่อชำระให้แก่โจทก์ในคดีซื้อ เชื่อ จำเลยมิได้สงวนสิทธิหรือได้โต้แย้งการจ่ายไว้ด้วยว่าให้จ่ายแก่เจ้าหนี้อื่น อีกด้วย และโจทก์ก็ได้ถือสิทธิขอรับเงินจำนวนนี้จากศาล ต้องถือว่าเป็นสิทธิแก่โจทก์แล้ว ผู้ร้องขอเฉลี่ยไม่ได้(ฎีกา 1324/2503)(อัยการผู้ช่วย 2533)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น