วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แปลงหนี้ใหม่

หลักกฎหมายแปลงหนี้ใหม่

มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็น สาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลง หนี้ใหม่ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติม เงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่าน ถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้นถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วย เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติ ทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 350 แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่

มาตรา 351 ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิด มีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้น ก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่

มาตรา 352 คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือ จำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้ เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้

โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้

การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้ (มาตรา 350) ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ ตามมาตรา 349 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552   
    การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง   

    และการแปลงหนี้ใหม่กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงตกลงกันด้วยวาจาได้ เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันก็เกิดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมก็ระงับไป   

แต่ถ้าได้มีการตกลงกันว่าสัญญาที่จะทำกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ(คู่สัญญาตกลงกันเอง) ถ้ามีกรณีเป็นที่สงสัย(สงสัยว่าสัญญานั้นจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่คู่สัญญาตกลงกัน) สัญญานั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ ตามมาตรา 366 วรรคสอง ซึ่งสัญญาที่จะเข้ามาตรา 366 วรรคสองนี้ ต้องไม่ใช่สัญญาซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบที่ต้องทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551   
    ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับ ลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว   
  
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
  
โจทก์ ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 จำเลยซื้อสีทาอาคาร และสีน้ำมันต่างๆ รวม 12 ครั้ง คิดเป็นเงิน 641,865.57 บาท ไปจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้วแต่ไม่ชำระเงินภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไข ถือว่าผิดนัด จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้าแต่ละครั้ง ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 คิดเป็นดอกเบี้ย 51,252.13 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 693,117.70 บาท ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินชำระหนี้แก่โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน 448,000 บาท ยังค้างชำระหนี้จำนวน 245,127.70 บาท หลังจากนั้นผิดนัดไม่ชำระหนี้อีกเลย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 253,015.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 193,865.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ   
  
จำเลยให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ได้ระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัว ลูกหนี้ เนื่องจากโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตีชำระหนี้แทนหนี้ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง   
  
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ   

โจทก์อุทธรณ์     ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ   

โจทก์ฎีกา   

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน   

ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำ ขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับ ลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์การโอนหนี้ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัดที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป   

ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้น ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว"   

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเหตุ   
    การ แปลงหนี้ใหม่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้ระงับที่เกิดจากการที่เจ้าหนี้กับ ลูกหนี้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ มาผูกพันเป็นหนี้ใหม่ โดยอาจมีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เอาบุคคลภายนอกเข้ามาผูกพัน เป็นหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ก็ได้

จำเลยซื้อสีจากโจทก์มีความผูกพันเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายสี การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากบริษัท ธ. ถ้าบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาผูกพันเป็นหนี้กับโจทก์ต่อไป โดยเมื่อได้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไม่มีหนี้ อะไรที่ต้องชำระให้โจทก์อีก ก็จะไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แต่เป็นการตีใช้หนี้อันเป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่นโดยบุคคลภายนอกเป็นผู้ ชำระหนี้ซึ่งโจทก์ยอมรับชำระหนี้นั้นทำให้หนี้เดิมระงับไปตามมาตรา 321 วรรคสอง แต่ปรากฏว่า บริษัท ธ. ได้ตกลงจะชำระหนี้ส่วนที่เหลือจากการตีใช้หนี้ด้วยหนี้ส่วนนี้จึงเป็นการ แปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้


ไพโรจน์ วายุภาพ

ฎีกาอื่นๆ
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน (ฎ 393/2550)

หนี้ของการแปลงหนี้ใหม่ไม่เกิด หนี้เดิมไม่ระงับ
ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ (ฎ 2675/2548)


แปลงหนี้ใหม่ แต่มีเงื่อนไข
ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ (ฎ 2675/2548)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3514/2551
ธนาคาร ม. เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้แก่ ว. โดยลูกหนี้สัญญากับธนาคาร ม. ว่าจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคาร ม. ต่อมาธนาคาร ม. ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ ว. หลังจากนั้นธนาคาร ม. และลูกหนี้ได้ตกลงกันให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้ามารับผิดชอบชำระหนี้อาวัลตั๋ว สัญญาใช้เงินดังกล่าวแทนลูกหนี้ โดยออกบัตรเงินฝากให้แก่ธนาคาร ม. เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้มูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง ธนาคาร ม. ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ในฐานะเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร ม. จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551
บริษัท ร. นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท ร. ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 อันถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีก ประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้ เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัง กล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ

เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่ กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2550
จำเลย ที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งวัสดุเชื่อมรอยต่อ โจทก์ติดตั้งและส่งมอบงานทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่เหลือและคืนเงินประกันแก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ยังทำงานไม่เสร็จเนื่องจากมีการรั่วซึมของน้ำตลอดเวลา การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกันผลงานให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์กำหนดการจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกัน ที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ที่จะเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมี ผลทำให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระงับสิ้นไป แต่ข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวยังมีผลที่จะบังคับกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550
ป.กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขาย ไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย

หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387 - 5388/2550
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนโจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2550
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายของ ก. ต่อโจทก์ แต่เมื่อโจทก์และ ก. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ ก. จะต้องรับผิด ความรับผิดของ ก. ที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้ ก. ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของ ก. ต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของ ก. ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามมาตรา 698

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549
ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2549
มูลหนี้เดิมที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญากู้เงินตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
การนำสืบว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องไม่เป็นการต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549
ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548
การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2548
สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงว่า การที่จำเลยที่ 1 ยอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์ คู่สายโทรศัพท์ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิม และไม่ตัดสิทธิโจทก์จะระงับการให้บริการตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม เมื่อไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมจึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้และเมื่อหนี้ตามสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับแต่วันผิดนัดตามสัญญาร่วมชำระหนี้ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548
การที่ ณ. ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวมีเงื่อนไขระบุไว้ว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นยังมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 ยังไม่ระงับสิ้นไป ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้ว และไม่เป็นกรณีที่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป. รัษฎากรฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3272/2547
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่บริหารงานขาย จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ของโจทก์ให้ลูกค้า แล้วลูกค้าได้นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นประกันการทำงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406
หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546
ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. และจำเลยที่ 2ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546
การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย
การกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2545
การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5247/2545
หลังจากที่จำเลยเป็นหนี้ค่าทองรูปพรรณและออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ย. ภริยาโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญากู้ขึ้นมีเนื้อความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินภริยาโจทก์ไปจำนวน 500,000 บาท จะใช้คืนให้ภายใน 6 เดือนนับจากวันทำสัญญาโดยภริยาโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้และจำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมให้นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเปลี่ยนมาเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างจำเลยกับภริยาโจทก์ สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมย่อมระงับสิ้นไป แม้ว่าจำเลยไม่เคยชำระเงินตามสัญญากู้แต่อย่างใดก็หามีผลทำให้การแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวเสียไปไม่ มูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น จึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2545
การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียวแต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2544
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกันจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตามเพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฎีกาแก้ฟ้องแย้ง

คำพิพากษาฎีกาที่  1586/2534

                      ห้างหุ้นส่วนจำกัดแต้ฮกเชียง.............................. โจทย์

                     กรมศุลกากร....................................................จำเลย


                    เรื่อง อุทธรณ์การประเมิน อำนาจฟ้อง เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ราคาแท้จริงในท้องตลาด (มาตรา 2) ป.รัษฎากร อุทธรณ์การประเมิน อำนาจฟ้อง เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม (มาตรา 18 วรรคหนึ่ง, 30,89ทวิ วรรคสี่)

                    โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อกระดาษอาร์ตเคลือบเครื่องหมายการค้า "เบนสัน" ซึ่งมีถิ่นกำเหนิดในประเทศนอร์เวย์เข้ามาในราชอาณาจักรไทย จากบริษัทสแคปเปกซ์ จำกัด ประเทศสวีเดน โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้า ขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย เพื่อชำระค่าภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบแล้ว พอใจราคาตามที่โจทก์สำแดง และจำนวนค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล รวม 1,178,542.82 บาท ที่ขอชำระ โจทก์ได้ชำระ ค่าภาษีอากรแล้วไปขอรับการตรวจปล่อยแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่าย ตรวจสอบปล่อยของจำเลยอ้างว่าโจทก์สำแดงประเทศกำเนิดของสินค้า และเครื่องหมายการค้าเป็นเท็จมีความผิดตามมาตรา 27,99 แห่งพระ ราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จึงไม่ยอมปล่อยสินค้าแก่โจทก์ โจทก์ จำเป็นต้องนำของออกเพื่อส่งให้ลูกค้าจึงนำหนังสือค้ำประกันของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาวางประกันไว้จำนวน 801,800 บาท ตามที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่ม ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2528 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปตกลงระงับคดี โดยจะให้โจทก์ เสียค่าปรับ 425,009.78 บาท และชำระค่าอากรขาเข้าที่ขาด 212,504.89 บาท ค่าภาษีการค้า 50,178.20 บาท กับให้ชำระ เบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีการค้าที่ขาด โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้อุทธรณ์ โต้แย้งต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2528 จำเลยแจ้งผลการพิจารณา อุทธรณ์ให้โจทก์ทราบโดยยืนตามคำสั่งเดิม โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงไม่ยอม ปฏิบัติ จำเลยส่งเรื่องไปที่กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร เพื่อ ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ฐานหลีกเลี่ยงอากร ผลการสอบสวนพนักงาน อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง สินค้าตามฟ้องกำเนิดในประเทศนอร์เวย์ โจทก์สำแดงราคาในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการไว้ ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ จำเลยอ้างว่าสินค้าตามฟ้องของโจทก์กำเนินในประเทศสวีเดน และ ประเมินราคาสูงขึ้นเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าการกล่าว หาและประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระเงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย เลข 6 และคำสั่งยกอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ไม่ชอบ กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฉบับ ลงวันที่ 4 มกราคม 2528 แก่โจทก์
                    จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2528 แก่โจทก์ กระดาษอาร์ตเคลือบ 114 ม้วน น้ำหนัก 103,160 กิโลกรัม เข้ามา ในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า แสดงรายการว่า เป็นสินค้าผลิตในประเทศนอร์เวย์ เครื่องหมายการค้า "เบนสัน" ราคาของ 1,708,033.38 บาท อากรขาเข้า 939,418.37 บาท ภาษีการค้า 217,385.86 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 21,738.59 บาท รวม 1,178,542.82 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจ ราคาจึงรับชำระค่าภาษีอากรไว้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจสินค้า ขาเข้าตรวจพบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสวีเดน และมีเครื่องหมายการค้า มงกุฎครอบตัว "H" ซึ่งมีราคาอันแท้จริงใน ท้องตลาด 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน การสำแดงเท็จของโจทก์ดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าขาดไป 386,372.52 บาท ค่าอากรขาดไป 212,504.89 บาท ค่าภาษีการค้าขาดไป 50,178.0 บาท ค่าภาษี บำรุงเทศบาลขาดไป 5,017.82 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย จึงสั่งให้โจทก์วางประกันก่อนตรวจปล่อย โจทก์ได้นำหนังสือของธนาคาร กรุงเทพ จำกัด มาวางค้ำประกันจำนวนเงิน 801,800 บาท และรับของ ไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย ได้แจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดี โดยเสียค่าปรับและชำระ เบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีการค้า โจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้ง คณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2528 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้า 50,178.20 บาท พร้อมค่าปรับ 1 เท่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2528 แต่นำคดี มาฟ้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 จึงเกิน 30 วัน คดีเกี่ยวกับภาษี การค้าและเบี้ยปรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ไม่มีอำนาจ ฟ้องเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์มิได้ นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระให้แก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง ผลการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของอากรที่ต้องเสียเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี เป็นเงิน 42,500.98 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้า ตามมาตรา 112 จัตวา อัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ต้องชำระ นับแต่วันตรวจปล่อยของคือวันที่ 10 มกราคม 2528 จนถึงวันฟ้องรวม 47 เดือน เดือนละ 2,125.05 บาท คิดเป็นเงิน 99,877.35 บาท โจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เดือนละ 752.67 บาท นับแต่เมื่อพ้น 15 วันถัดจากเดือนภาษีคือ วันที่ 16 มกราคม 2528 ถึงวันฟ้องรวม 47 เดือน เป็นเงิน 35,375.49 บาท และต้องชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล ร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า เป็นเงิน 3,537.55 บาท รวม ค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่โจทก์จะต้องชำระเป็นเงิน 448,992.28 บาท ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรและเงิน เพิ่มรวม 448,992.28 บาทแก่จำเลยกับให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มอากร ขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ค้างชำระ เป็นเงินเดือนละ 2,125.05 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของค่าภาษี การค้าที่ค้างชำระ เป็นเงินเดือนละ 752.67 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า
                    โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ราคาสินค้าต้นละ 750 เหรียญสหรัฐ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดเป็นเกณฑ์ประเมินนั้น พนักงาน เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดขึ้นเองมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและสำแดงราคาเพื่อเสียภาษีตามราคาที่ โจทก์ซื้อมาโดยแท้จริง เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยหมายเลข 1 และเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์หมายเลข 6 เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำขึ้น เพื่อเรียกค่าปรับ มิใช่เป็นการประเมินภาษีและออกแบบแจ้งการประเมิน ภาษี โจทก์มิได้แสดงเครื่องหมายการค้าและประเทศกำเนิดสินค้าเป็น เท็จอันเป็นเหตุให้ราคาสินค้าขาดไป ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งของ จำเลย
                    ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลย เฉพาะที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า โดยให้เป็นไปตามที่โจทก์สำแดงในใบ ขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 2 ประกอบกับบัญชีราคาสินค้า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 ส่วนที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการประเมิน เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ให้ยกฟ้องที่โจทก์ขอให้ จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด นั้นเนื่องจาก โจทก์จะต้องชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้แก่จำเลยโดย มีหนังสือค้ำประกันดังกล่าวประกันไว้ จึงไม่คืนให้ ให้โจทก์ชำระภาษี การค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ขาดให้แก่จำเลย พร้อมทั้งเงินเพิ่ม ภาษีการค้าจากจำนวนภาษีการค้าที่ขาดอยู่ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ เดือนนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำชะเสร็จพร้อมทั้งชำระภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีการค้าที่จะต้องชำระแก่จำเลยดังกล่าว มาแล้ว
                    โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
                    ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับค่าภาษีการค้า และค่าภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า นายอภิรัฐ ดำรงตำแหน่งเป็น หัวหน้าฝ่ายคดี 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการกองคดีซึ่งเป็น ข้าราชการตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง กรมศุลกากร จึงเป็นเจ้าหนักงานประเมินตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการ แต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 2) เรื่องประกาศยกเลิกและแต่งตั้งพนักงาน ประเมินตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2513 เมื่อนายอภิรัฐได้มีหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 หรือเอกสาร หมาย จ.1 แผ่นที่ 33 แจ้งจำนวนค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มไป ยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรให้นำเงินมาชำระจึงเป็นการที่เจ้าหนักงาน ประเมินได้แจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีอากรจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ตามที่ประมวล รัษฎากรมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยจะต้องอุทธรณ์ไปยังคณะ กรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรภายใน 30 วัน นับแต่ วันได้รับแจ้งการประเมินต่อเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มี คำวินิจฉัยแล้วผู้ต้องเสียภาษีอากรจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี การค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ประมวลรัษฎากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน โจทก์ จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ที่เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปนั้น ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้...
                    ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย มีว่าการที่พนักงาน เจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรของที่นำเข้า เพิ่มเป็นการชอบหรือไม่ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าของที่โจทก์นำเข้ากำเนิด ในประเทศใดและมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด... พยานโจทก์จึง มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า สินค้าดังกล่าวกำเนิดในประเทศนอร์เวย์ และมีราคา ซื้อขายกันโดยแท้จริงตามราคาในใบอินวอยซ์.. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ากำเนิดในประเทศนอร์เวย์มิได้กำเนิดในประเทศ สวีเดน ดังนั้นราคาสินค้าและค่าภาษีอากรที่โจทก์สำแดงและชำระไว้ จึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประ เมินราคาค่าสินค้าและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มโดยเทียบราคา จากสินค้าที่กำเนิดในประเทศสวีเดนจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพราะ มิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.. แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษา ให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของจำนวนภาษี การค้าที่ขาดอยู่นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่จำกัด จำนวนไว้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตาม มาตรา 89 นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคสี่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง"
                    พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้า อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีการค้าที่ขาดนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะ ชำระเสร็จแต่มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
(สุนพ กีรติยุติ - ก้าน อันนานนท์ - เพ็ง เพ็งนิติ)
          เลขที่ฎีกา    1649/2513  โจทก์ฟ้องจำเลย 3 คน  จำเลยทั้งสามให้การโดยจำเลย
ที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ด้วย  เมื่อคู่ความท้ากันว่าถ้าฝ่ายใดมีหน้าที่นำ
สืบก่อน  ให้ฝ่ายนั้นแพ้คดี แต่มิได้จำกัดไว้ว่าให้วินิจฉัยจากฟ้องโจทก์กับคำให้
การจำเลยอย่างเดียว ดังนี้ ต้องวินิจฉัยคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1  กับ
คำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วยเสมือนเป็นคนละสำนวนกับฟ้องเดิม
    ฟ้องของโจทก์อ้างว่า  ที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าแล้ว
ไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จะเข้าทำ จำเลยทั้งสามกลับบุกรุกเข้าทำจึงฟ้องเรียก
ค่าเช่ากับค่าเสียหาย   จำเลยให้การว่า  จำเลยที่ 1 ไม่เคยเช่านาพิพาท
จากโจทก์โจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วมอบให้ครอบครองมาเกินกว่า
10 ปีจนบัดนี้จำเลยไม่เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ดังนี้    เป็นคำให้การปฏิเสธ
ฟ้องโจทก์โดยตลอดและเมื่อที่นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งโจทก์มีแต่ ส.ค. 1
โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนว่าโจทก์ให้จำเลยที่  1  เช่าจริงหรือไม่ และ
จำเลยบุกรุกที่ของโจทก์จริงหรือไม่   เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ก็ต้องยกฟ้องโจทก์
สำหรับจำเลยทั้งสาม
    ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่  1    ที่อ้างว่าโจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลย
ครอบครองมากว่า  10  ปีขอให้บังคับโจทก์ไปทำสัญญาซื้อขายและโอนให้แก่
จำเลยที่  1 และห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับนาพิพาทนั้น โจทก์ให้การปฏิเสธ
ฟ้องแย้งอยู่ว่าไม่เคยขายให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่  1  ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบ
ก่อนให้สมฟ้องแย้งเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบ  ศาลย่อมยกฟ้องแย้งของจำเลย
ที่  1  เช่นกัน         

คำให้การและฟ้องแย้ง

คำให้การและฟ้องแย้งคดีจ้างทำของ
คำให้การและฟ้องแย้ง
            ข้อ ๑. จำเลยรับว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมี.......นาย .ง........เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์
            ข้อ ๒. จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ แต่อย่างใด กล่าวคือ โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจ้างทำอุปกรณ์ฟาสฟูดส์ โดยมีวัตถุประสงค์ในข้อตกลงว่า สิ่งของหรืออุปกรณ์ที่โจทก์รับจ้างทำดังกล่าวนั้นจะต้องถูกต้องตามข้อตกลง และมีสภาพเรียบร้อยอุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถทำงานได้ผลตามที่ได้ทำความตกลงไว้ เช่น เครื่องดูดควัน สามารถดูดควันได้ เป็นต้น หากโจทก์ทำการงานที่รับจ้างทำไม่ได้ตามข้อตกลงโจทก์ยินดีชดใช้ค่าเสียหายตามสมควร ปรากฏรายละเอียดตามหมายเหตุท้ายสัญญาจ้างทำ เอกสารท้ายฟ้องกมายเลข ๓ แผ่นที่ ๑ แต่ปรากฏว่าสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่โจทก์จัดทำและนำไปติดตั้งให้แก่จำเลยนั้น มีความชำรุดบกพร่องและผิดตามข้อตกลงในสาระสำคัญหลายประการ เช่น เครื่องดูดควันไม่สามารถดูดควันได้
            ต่อมาจำเลยจึงได้แจ้งให้โจทก์จัดการแก้ไขข้อบกพร่องให้เป็นไปตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่สามารถจัดการแก้ไขได้ จำเลยจึงได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์เพราะสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่โจทก์นำไปติดตั้งนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงและไม่สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยได้ และได้แจ้งให้โจทก์จัดการขนสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่นำไปติดตั้งคืนไป ฉะนั้น โจทก์จึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา และไม่มีสิทธิที่จะต้องคืนเงินมัดจำค่าจ้างที่เหลืออีก ๓๕,๐๐๐ บาท จากจำเลย แต่โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องคืนเงินมัดจำจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยอีกด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง
            ข้อ ๓. จำเลยขอให้การต่อสู้ว่า จำเลยยังไม่ได้รับมอบสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องแต่ประการใด เพราะสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่โจทก์นำไปติดตั้งนั้นชำรุดบกพร่องและผิดตามข้อตกลง ดังได้ประทานกราบเรียนมาแล้วตาม ข้อ ๒. ต่อมาจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทำการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง โจทก์จึงได้แจ้งแก่จำเลยว่าให้ทดลองใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ดังกล่าวไปก่อน ๑ เดือน โดยยังมิต้องชำระเงินส่วนที่เหลือ แต่ปรากกว่าเมื่อครบกำหนด ๑ เดือนแล้ว โจทก์ก็มิได้ทำการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ จนจำเลยต้องบอกเลิกสัญญาในที่สุด ฉะนั้นโจทก์จึงยังมิได้ส่งมอบและจำเลยยังมิได้รับมอบสิ่งของหรืออุปกรณ์ดังกล่าวตามฟ้อง
            ข้อ ๔. การกระทำของโจทก์ตามข้อ ๒. และข้อ ๓. ดังกล่าวข้างต้น ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังต่อไปนี้
            ๔.๑..................................................................
            ๔.๒. ค่าเสียหายจากการที่จำเลยได้วางมัดจำไว้กับโจทก์เป็นเงินจำนวน ๕,๐๐๐บาท(ห้าพันบาทถ้วน)
            รวมเป็นเงินค่าเสียหานทั้งสิ้นจำนวน..........บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) จำเลยจึงขอถือเอาคำให้การนี้เป็นฟ้องแย้งของจำเลยต่อโจทก์ และขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาและบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยดังต่อไปนี้
๑.     ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
๒.   ให้โจทก์ชำระเงินค่าเสียหายเป็นเงิน............บาท(................)และเงินมัดจำจำนวน ๕,๐๐๐ บาท(ห้าพันบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น.......บาท(...............)ให้แก่จำเลย พร้อมด้วยแก่เบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะชำระให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น
ข้อ ๓. ให้โจทก์จัดการรื้อถอนหรือนำสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งในร้านของจำเลยออกไปจากร้านของจำเลย และหากโจทก์ไม่จัดการก็ขอให้ศาลได้โปรดมีคำพิพากษาให้จำเลยจัดการให้บุคคลภายนอกทำการดังกล่าวแทนโจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
            ข้อ ๔. ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฎีกาที่เกี่ยวกับการบังคับคดี

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ตอน 2
           

คำบังคับ (มาตรา 272,273)

1.  ฎีกาที่ 2352/2521
            ทนายจำเลยทราบคำบังคับ  ถือว่าจำเลยทราบคำบังคับด้วย

2.  ฎีกาที่ 1938/2527
            มีข้อความเพียงว่าบังคับตามยอม  ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว

3.  ฎีกาที่ 1131-1132/2544
            คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน  ย่อมบังคับรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างคดีที่จำเลยกระทำขึ้นหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำด้วย  การที่จำเลยยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่  ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำบังคับโดยครบถ้วน

4.  ฎีกาที่ 4311/2536
            ในคดีที่มีการบังคับคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว  จำเลยได้เข้ามารบกวนการครอบครองอีกถือการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่  จะบังคับในคดีเดิมไม่ได้  ต้องฟ้องขับไล่เป็นคดีใหม่

5.  ฎีกาที่ 2701/2537
            กรณีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทำนิติกรรมโดยมิได้มีข้อความว่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย  ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งดังกล่าวในคำบังคับได้  เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดี

ค้ำประกันในศาล (มาตรา 274)

1.  ฎีกาที่ 8228/2538
            ในการทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์  ศาลอาจจะวางเงื่อนไขว่าให้หาประกันมาให้พอกับหนี้ตามคำพิพากษา  ในกรณีเช่นนี้หากมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อให้มีการทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์  ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน  ย่อมมีผลในชั้นอุทธรณ์เท่านั้น  เพราะเป็นการค้ำประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์นั่นเอง

หมายบังคับคดี (มาตรา 275, 276)

1.  ฎีกาที่ 6479/2541
            ศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยแก่ที่ดินของโจทก์  ปรากฏว่าจำเลยได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว  ทำให้จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์อีกต่อไป  และไม่อยู่ในฐานะจะไปจดทะเบียนภาระจำยอมได้ถือว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

2.  ฎีกาที่ 1131-1132/2544
            ถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์  การที่จำเลยโอนสิ่งปลูกสร้างและที่ดินให้บุคคลอื่นไปแล้ว  แต่จำเลยยังเป็นผู้จัดการดูแลครอบครองสิ่งปลูกสร้างอยู่  ถือไม่ได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้

3.  ฎีกาที่ 5642/2540
            หมายบังคับคดีจะออกได้ต่อเมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้วและลูกหนี้  ไม่ชำระหนี้  หมายบังคับคดีที่ออกในขณะที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับตามมาตรา 276  วรรคหนึ่ง  เป็นหมายบังคับคดีทันทีในขณะที่ยังไม่พ้นระยะเวลาตามคำบังคับและถึงแม้จะรอให้พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ  จำเลยก็คงไม่ชำระหนี้และต้องออกหมายบังคับคดีและถึงแม้จะรอให้พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ  จำเลยก็คงไม่ชำระหนี้และต้องออกหมายบังคับคดีอยู่นั่นเอง  ศาลอาจไม่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีก็ได้

4.  ฎีกาที่ 2364/2526
            การออกหมายบังคับคดี จะต้องออกตามคำพิพากษา  จะอ้างว่าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้  จึงให้ใช้ค่าเสียหายแทนโดยมิได้พิพากษาเช่นนั้นไม่ได้ 

5.  ฎีกาที่ 2403/2527
            ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตอบแทนกัน  ไม่ถือว่าเป็นการบังคับนอกเหนือคำพิพากษา

เจ้าพนักงานบังคับคดีอยู่ในฐานะผู้แทนเจ้าหนี้ฯ (มาตรา 278)

1.  ฎีกาที่ 4038/2543
            ในการดำเนินการบังคับคดี  เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดและรับเงินจากการขายทอดตลาดไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ขายทอดตลาดเท่านั้น

2.  ฎีกาที่ 691/2522
            เงินมัดจำที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดวางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี  ถือว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรับไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาและถูกริบเงิน  เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรวบรวมไว้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

การยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้  (มาตรา 282-284)

1.  ฎีกาที่ 586/2543
            เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดและอายัดทรัพย์สินตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  ดังนั้น  เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบที่จะขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังโต้แย้งว่า  จำเลยยังมีข้อพิพาทกับบุคคลภายนอก

ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี (มาตรา 285,286)

1.  ฎีกาที่ 2227/2537
            ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285(4)  คือทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย  หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี  สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว  เมื่อไม่มีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย  ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี   โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดขายทอดตลาดได้

2.  ฎีกาที่ 3020/2532 (ประชุมใหญ่)
            เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ  เงินบำเหน็จฯ ตามมาตรา 286(2) และ (3) แม้จำเลยจะได้รับมาจากเจ้าหน้าที่แล้ว  ก็เป็นเงินที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี

3.  ฎีกาที่ 2541/2545
            ลูกจ้างของการรถไฟ ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณของการรถไฟ  ไม่ใช่ลูกจ้างของรัฐบาล  กรณีจึงอยู่ในเขตบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286(3)

ขอกันส่วน

1.  ฎีกาที่ 1767/2527
            บุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามมาตรา 287  นี้ได้  ต้องมีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย  หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน  ผู้ร้องจะร้องขอคุ้มครองตามมาตรานี้ไม่ได้

2.  ฎีกาที่ 5470/2536
            ในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวม  บุคคลอื่นจะร้องขอกันส่วนไม่ได้เช่นกัน

3.  ฎีกาที่ 3323/2528
            ผู้ที่คุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 287 นี้  ต้องเป็นผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งผู้นั้นอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ยึดหรืออายัดได้  สำหรับสิทธิอื่น ๆ  นี้จะต้องเป็นสิทธิทำนองเดียวกับบุริมสิทธิ

4.  ฎีกาที่ 2517/2534
            เจ้าหนี้ผู้รับจำนำเป็นผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำ  จึงมีสิทธิขอกันส่วนเพื่อขอรับชำระหนี้ของตนตามมาตรา 287  แต่ถ้าผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์ที่จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้รับจำนำแล้ว  สิทธิจำนำย่อมระงับสิ้นไป  ผู้รับจำนำจะร้องขอกันส่วนไม่ได้

เจ้าของรวมร้องขัดทรัพย์ไม่ได้  ต้องร้องกันส่วน

1.  ฎีกาที่ 541/2509
            ผู้ที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินร่วมกับจำเลย  จะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้  เพราะจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย  แต่เจ้าของรวมคนอื่นมีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนตามมาตรา 287 

2.  ฎีกาที่ 679/2532
            ถ้าทรัพย์สินที่ยึดเป็นสินสมรส  ถือว่าคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยบุคคลภายนอกมีสิทธิร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้  จึงมีสิทธิร้องขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสินสมรสนั้น  แต่ทั้งนี้ต้องได้ความว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องบังคับนั้นไม่ใช่หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา 

3.  ฎีกาที่ 2725/2528
            กรณีผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน  และหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  สามีภริยาต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกัน  ผู้ร้องจึงร้องขอกันส่วนจากสินสมรสที่ถูกยึดไม่ได้

4.  ฎีกาที่ 445/2540
            ถ้าเจ้าหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ร่วม  สามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องจะร้องขอกันส่วนจากสินสมรสที่ถูกยึดทรัพย์บังคับคดีไม่ได้  แต่ถ้าเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยแม้จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาก็ตาม  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยึดมาชำระหนี้ดังกล่าวไมได้

5.  ฎีกาที่ 2883/2528
            ถ้าหากมีการแบ่งแยกครอบครองที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นสัดส่วนแล้ว  ดังนี้  เจ้าของรวมย่อมขอกันส่วนที่ดินส่วนที่ตนครอบครองออกก่อนขายทอดตลาดได้  ไม่ใช่กันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน

6.  ฎีกาที่ 675/2546
            ถ้าเพียงแต่ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรกันเองว่าจะแบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเท่านั้น  แต่ไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน  ถือว่าเจ้าของรวมนั้นครอบครองที่ดินร่วมกันทุกส่วน  จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดิน

7.  ฎีกาที่ 772/2523
            เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าของรวมในคดีอื่นก็มีสิทธิร้องขอกันส่วนตามมาตรา 287

ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

8.  ฎีกาที่ 2688/2538
            ผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนในทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300  ถือว่าเป็น สิทธิอื่น ๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามมาตรา 287

9.  ฎีกาที่ 5557/2545
            ผู้มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย  แม้ได้รับมอบทรัพย์แล้ว  แต่ยังไม่ชำระราคาไม่ครบ  ถือไม่ได้ว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน  ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

10.ฎีกาที่ 3766/2545
            ต่อมามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า  แม้ผู้จะได้ชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว  อันทำให้เป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300  ก็ตามก็ไม่ใช่สิทธิอื่น ๆ  ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287

กำหนดเวลายื่นคำร้องตามมาตรา 287

11.  ฎีกาที่ 1195/2510
            การยื่นคำร้องตามมาตรา 287  นั้นไม่ได้กำหนดเวลาไว้  ดังนั้น  จึงอาจยื่นภายหลังจากการขายทอดตลาดแล้วก็ได้  ไม่จำต้องยื่นคำร้องก่อนขายทอดตลาดทรัพย์ที่บังคับคดี

12.ฎีกาที่ 974/2529
            ตามมาตรา 287 ที่ว่า...การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิ...การบังคับคดีดังกล่าวหมายถึงการบังคับคดีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว  หากเป็นการยึดหรืออายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา 254  ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิอ้างสิทธิตามมาตรา 287

ร้องกันส่วน

ร้องกันส่วน

หลักเกณฑ์การขอกันส่วน ป วิ แพ่ง มาตรา 287
1  ต้องมีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน  ผู้ร้องจะร้องตาม มาตรา 287 ไม่ได้
2 บทบัญญัติ มาตรา 287 เป็นเรื่องของสิทธิบุคคลภายนอกที่จะร้องขอบังคับเหนือทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้
แต่สิทธิของบุคคลภายนอกนั้น ต้องแล้วแต่ลักษณะของสิทธิบุคคลภายนอก
3  มาตรา 287 บัญญัติให้อยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 หมายความว่า หากสิทธิของบุคคลภายนอกไปเข้ากรณีตาม มาตรา 288 และ มาตรา 289 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ต้องปฎิบัติตามบทบัญญัตินั้นๆ ด้วย

หลักเกณฑ์การร้องขัดทรัพย์  ป วิ แพ่ง มาตรา 288

1 มีการยึดทรัพย์สินเพื่อนำออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น
2 จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สิน
3 บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิ์ ยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
4 ต้องยื่นคำร้องก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น
5 ศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สรุปหลักฉ้อโกง

ลักษณะของการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ มีดังนี้
1. ต้องมีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2. ข้อความนั้นต้องเป็นเท็จและต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์ในอนาคต เว้นแต่เหตุการณ์ในอนาคตนั้นพออนุมานได้ว่าเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
3. ผู้กระทำต้องรู้ข้อความนั้นเป็นเท็จ และต้องเป็นการกล่าวยืนยันข้อความนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนหรือเพียงให้คำมั่นสัญญาแม้จะไม่ ตรงกับความจริงก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
4. การแสดงข้อความเท็จนั้น อาจเป็นเท็จต่อเพียงบางส่วนก็ได้ ไม่จำต้องเท็จทั้งหมด
5. การหลอกลวงนั้นต้องกระทำก่อนที่จะได้ทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถ้าได้ทรัพย์มาในความครอบครองก่อนแล้ว จึงหลอกลวงไม่เป็นฉ้อโกง
6. การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าเขาหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงไม่หลงเชื่อหรือหลงเชื่อแต่ยังไม่ยินยอมให้เอาทรัพย์นั้นไป ถ้าผู้ที่หลอกลวงหยิบเอาทรัพย์นั้นไปเองหรือหลอกลวงเพื่อให้ทำการลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
7. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น อาจกระทำด้วยทางวาจา กิริยาท่าทาง ลายลักษณ์อักษร เครื่องขยายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรืออื่นๆก็ได้ กฎหมายไม่จำกัดเฉพาะทางวาจาเท่านั้น
8. การปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง คือจะต้องรู้ความจริงแล้วนิ่งเสียไม่ยอมบอกให้เขาทราบเพื่อจะให้ได้ทรัพย์สิน ฯ อาจกระทำโดยกิริยา ท่าทาง หรืออย่างอื่นๆก็ได้
9. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในกรณีที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า หรือการขายของ แม้จะเกินความจริงไปบ้างก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงเพราะบุคคลทั่วไปก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี แต่ถ้ามีเจตนาที่จะหลอกลวงเพื่อทำการฉ้อโกงโดยตรงก็เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้า ตาม มาตรา 271 ได้
10. การหลอกลวงนั้นต้องทำให้เขาหลงเชื่อและได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือ ทำให้เขาทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หากให้เพราะความสงสารหรือเพื่อจะเอาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีหรือไม่เชื่อจึงไม่ให้ทรัพย์ หรือเชื่อแต่ไม่ให้ทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์จะให้ ดังนี้ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
11. การได้ทรัพย์สินหรือให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวง แต่รวมถึงบุคคลที่สามด้วย แต่บุคคลนั้นต้องมีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้นด้วย ถ้าผู้ที่มอบให้ไม่มีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้น ผู้เอาไปผิดฐานลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 207/2512
12. ความผิดฐานฉ้อโกง การได้ทรัพย์นั้น ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์แต่อย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพย์สิน สิทธิบางอย่างและให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิด้วย
13. ในกรณีที่ให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารนั้น ต้องเป็นเอกสารสิทธิ ถ้าไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
14. ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะ
หลอกลวงอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้น ถ้าผู้กระทำมีเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ผิดฐานยักยอก

15. ความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ต้องหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น การหลอกลวงเอาทรัพย์ของตนเองไปจากผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 16/2510
16.ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นการหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์ให้ แต่การ
หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์ไปส่งคืน แม้เป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ตัวอย่างฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2548


จำเลย อ้างว่ารู้จักกับ บ. ซึ่งสามารถติดต่อฝาก ส. บุตรโจทก์ร่วมเข้ารับราชการตำรวจได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ร่วมหลงเชื่อและมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้ บ. แล้ว บ. พา ส. ไปพบพันตำรวจโท พ. และมอบเงินที่รับจากโจทก์ร่วมให้พันตำรวจโท พ. โดยไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท พ. มีหน้าที่ในการคัดเลือกหรือบรรจุแต่งตั้งให้บุคคลเข้ารับราชการตำรวจแต่ อย่างใด 


การที่โจทก์ร่วมมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่พันตำรวจโท พ. จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงาน กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ถือมิได้ว่าโจทก์ร่วมใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ในความผิดฐานฉ้อโกงได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645 - 6646/2548


การ แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย  แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ  โดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น  คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน  แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้ง สองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้ เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไข การไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตาม เงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
 
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2547


การ ที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐานให้ผู้เสียหายว่า เป็นการ " ขายฝาก " โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทอง ผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน   ดังนั้น การที่จำเลยนำหลักฐานที่เจ้าของร้านทองออกให้แก่ผู้เสียหายไปขอไถ่สร้อยคอ ของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของผู้เสียหายให้จำเลยไป เป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควร บอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคล ที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลัก ทรัพย์และฉ้อโกง ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอ




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12582/2547


ธนาคาร ท. ผู้จ่ายเงินตามใบบันทึกการขายซึ่งเกิดจากบัตรเครดิตของธนาคาร ซ. ที่จำเลยปลอมขึ้น และนำไปใช้ซื้อสินค้าให้แก่ร้าน ห. เป็นเพียงได้รับความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญา จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ธนาคาร ท. จ่ายให้แก่ร้าน ห. ให้แก่ธนาคาร ท. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225

ในเรื่องฉ้อโกงจะมีประเด็นให้คิด 2 ประเด็น คือ
1. การให้คำมั่นหรือการให้สัญญาในอนาคตแล้วไม่ทำจะเป็นฉ้อโกงหรือไม่
(ฎีกาที่ 1124/2529)
2. การลักทรัพย์โดยใช้อุบายกับฉ้อโกงต่างกันตรงไหน
การฉ้อโกง หัวใจสำคัญ อยู่ที่การหลอกลวงคือการแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จหรือมิฉะนั้นก็โดยปกปิด ข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การหลอกลวงทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือทำให้เขาถอน ทำลาย หรือทำเอกสารสิทธิ การที่ใครคนหนึ่งส่งมอบทรัพย์ให้เราโดยสำคัญผิด แล้วเราเบียดบังเอาทรัพย์นั้น
เช่น ผมสั่งซื้อของแต่คนขายเอาของมาส่งที่บ้านตอนที่ผมไม่อยู่ เขาส่งให้โดยสำคัญผิดและไม่ได้เกิดจากการหลอกลวง ต่อมาผมเห็นของแล้วเกิดทุจริตเบียดบังเอาเป็นของผมเอง เช่นนี้เป็นยักยอกทรัพย์
ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่ต้องการผล
ลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย คือ เป็นการหลอกลวงเอาไปเพื่อการยึดถือเป็น เช่น ใช้อุบายขอขี่ม้าลองกำลังอยู่ต่อหน้าก่อนที่จะตกลงซื้อแต่ขี่ม้าไปเสีย เป็นลักทรัพย์(ฎีกาที่ 791/2502) เนื่องจากเจ้าของม้ายังไม่สละการครอบครองให้เพียงแต่สละการยึดถือเท่านั้น
แต่ฉ้อโกง เป็นการหลอกลวงได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์
ยักยอกทรัพย์ เป็นการใช้อุบายหลอกไปได้ซึ่งสิทธิครอบครอบ
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 791/2502
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ และโจทก์นำสืบว่าจำเลยทำผิดวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนยี่ ซึ่งความจริงแล้ววันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๑ ตามที่จำเลยให้การและลำดับเหตุการณ์ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ เป็นการเจือสมกับการกระทำที่โจทก์ฟ้อง จำเลยเป็นแต่นำสืบปฏิเสธต่อสู้ปัดความรับผิดเท่านั้น จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด
จำเลยกับพวกได้พูดกับเจ้าของม้าขอลองกำลังม้า อ้างว่าเพื่อนของจำเลยจะซื้อ ดังนี้ สิทธิครอบครองยังคงอยู่กับเจ้าของม้า ๆ ยังไม่ทันอนุญาต จำเลยยัดเยียดส่งบังเหียนให้เพื่อนของจำเลยและพูดรับรอง ในทันใดนั้นเอง พวกของจำเลยก็ตีม้าเร่งฝีเท้าขี่หนีไปต่อหน้า ดังนี้ จึงเห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตแต่แรก การกระทำของจำเลยกับพวกมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 2581/2529
จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนกันเข้าไปเติมน้ำมันเบนซินที่บ้าน ผู้เสียหายจำนวน ๕ ลิตร เมื่อเติมน้ำมันเสร็จภริยาผู้เสียหายทวงเงินค่าน้ำมัน จำเลยที่ ๒ ถือลูกกลม ๆ อยู่ในมือซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นลูกระเบิดพูดว่า ไม่มีเงิน มีไอ้นี่เอาไหม ภริยาผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นลูกระเบิด จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ออกไป การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายเพียงเพื่อจะเติมน้ำมันรถ จักรยานยนต์โดยไม่ชำระราคาเท่านั้น การที่จำเลยที่ ๒ ถือลูกกลม ๆ อยู่ในมือและพูดเช่นนั้น เป็นวิธีการที่จะใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 321/2510
เงินที่ได้จากการขายข้าวซึ่งโจทก์ร่วมและบิดาทำร่วมกัน เมื่อได้ความว่ายังไม่ได้แบ่งเงินรายนี้ระหว่างคนทั้งสอง จึงต้องถือว่าทั้งบิดาและโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเงินรายนี้ร่วมกันอยู่ ดังนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย
คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เรียกเอาเงินและทองมาใส่ถุงย่ามเพื่อเป็นสิริ มงคลในการที่จำเลยจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงได้ห่อธนบัตรจำนวนเงิน ๒,๐๐๖ บาท กับเอาสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทหนึ่งเส้นบรรจุใส่ในกล่องพลาสติกส่งให้จำเลย จำเลยเอาห่อเงินและกล่องบรรจุสายสร้อยดังกล่าวใส่ลงไปในถุงย่ามแล้วลงเรือน ไป มีนายประสิทธิและโจทก์ร่วมเดินตามหลัง ระหว่างเดินกันไปทางบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมเพื่อจะทำพิธี จำเลยล้วงเอาห่อธนบัตรนั้นไปเสีย จึงเห็นได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ เพราะโจทก์ร่วมเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองให้จำเลย เขาเพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการชั่วคราว ดังนี้ การที่จำเลยเอาห่อธนบัตรนั้นไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 554/2509
จำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงและสิบตำรวจเอกเหม กลับจากงานบวชนาคด้วยกัน เมื่อไปถึงทุ่งนา สิบตำรวจโทสำเนียงบอกว่าจะไปถ่ายเพราะปวดท้อง จึงมอบปืนไว้กับสิบตำรวจเอกเหม แล้วสิบตำรวจโทสำเนียงก็เดินไปโดยจำเลยเดินตามไปด้วย สิบตำรวจเอกเหมไปคุยอยู่กับพรรคพวก จำเลยได้กลับมาหาสิบตำรวจเอกเหมและเอาความเท็จบอกว่าสิบตำรวจโทสำเนียงให้มา เอาปืนจะไปธุระ สิบตำรวจเอกเหมเห็นว่าจำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงเจ้าของปืนเป็นเพื่อนกัน จึงหลงเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยและมอบปืนให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในลักษณะที่เห็นได้ว่าจำเลยหลอกลวงให้สิบตำรวจเอก เหมหลงเชื่อจนได้ปืนไปจากสิบตำรวจเอกเหมผู้ถูกหลอกลวง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๗/๒๕๐๙)
คำพิพากษาฎีกาที่ 973/2520
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ได้ความว่าจำเลยมาเอารถจักรยาน ๒ ล้อ ของผู้เสียหายซึ่งฝากไว้กับนายจันทร์ อ้างว่าจะเอาไปให้ผู้เสียหาย นายจันทร์เห็นว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นเพื่อนกันและมาฝากรถด้วยกันจึงมอบ ให้ไป แล้วจำเลยนำไปเป็นประโยชน์ของตน หาได้นำไปคืนให้ผู้เสียหายไม่ เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกแล้วหลอกลวงให้นายจันทร์หลงเชื่อด้วย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจนได้รถคันนั้นไปจากนายจันทร์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้อง ศาลก็ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง


เลขที่ฎีกา    1881/2517  ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ด้วยการ
หลอกลวง   แต่ความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาด้วยการฉ้อโกงนั้น ผู้รับ
ของโจรไม่ได้ไปหลอกลวงด้วย   เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดฐาน
ฉ้อโกงว่าจำเลยที่  2 ได้ทรัพย์มาด้วยการร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้อื่น
แต่กลับบรรยายฟ้องในความผิดฐานรับของโจรว่า     จำเลยที่ 2 รับทรัพย์
รายเดียวกันนี้ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฉ้อโกง ซึ่งแสดงว่า
จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมหลอกลวงด้วย     จึงขัดแย้งกัน จำเลยที่ 2 ไม่อาจ
เข้าใจได้ว่า  โจทก์กล่าวหาว่ากระทำการอย่างไรแน่ย่อมต่อสู้คดีไม่ถูก ฟ้อง
ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2  ในความผิดสองฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
แต่สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้กล่าวหาว่า   กระทำผิดฐานรับของโจรด้วย
ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่เคลือบคลุม